วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิหารอุด วัดใหญ่โพหัก




วัดใหญ่โพหัก เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชุมชนโพหัก ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.โพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยช่วงอยุธยาตอนปลาย ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ คือ วิหารอุด หรืออุโบสถหลังเก่าของวัด
วิหารอุด เป็นอาคารูปทรงสี่เหลี่ยม สร้างอยู่บนฐานสูง ก่อด้วยอิฐปูนสอแบบโบราณ กว้าง 7.50 ม. ยาว 8.30 ม. สูง 5.00 ม.มีประตูขนาดเล็กประตูเดียว มีหน้าต่างทางระบายลมข้างละบาน ภายในมีพระพุทธรูปสลักด้วยหินทรายแดง เป็นศิลปะสมัยอยุธยา ยุคเดียวกับที่ประดิษฐาน วิหารคด รอบองค์พระประธานของวัดมหาธาตุวรวิหาร
วิหารอุดนี้ น่าจะสร้างในระยะที่มีการสร้างพระพุทธรูป เมื่อสมัยการบูรณะองค์พระมหาธาตุที่ราชบุรี วิหารอุดหลังนี้ เดิม เป็นสถานที่ในการทำสังฆกรรมของภิกษุสงฆ์ในชุมชนโพหัก และจะต้องเป็นพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน จึงทำให้วัดใหญ่โพหัก มีถาวรวัตถุ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาจนถึงทุกวันนี้



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร

อุโบสถเก่าวัดกำแพงเหนือ


วัดกำแพงเหนือ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุของการก่อตั้งควบคู่กับวัดกำแพงใต้ ตั้งอยู่ในเขต พื้นที่หมู่ที่ 6 ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม เชื่อว่ามีการจัดตั้งจัดราว พ.ศ.2127 มีโบราณสถาน ถาวรวัตถุที่มีความเก่าแก่ โดยเฉพาะอุโบสถเก่า ที่มีการสร้างขึ้นในราว พ.ศ.2460 ซึ่งคนไทยเชื่อสายลาวเวียง ที่ได้อพยพมาจากเมืองเวียงจันทร์ สมัยต้น รัตนโกสินทร์ ทำให้สถาปัตยกรรมรูปแบบการก่อสร้างมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมลาวเวียง และสถาปัตยกรรมของจีน โดยช่อฟ้าใบระกาจะมีความแตกต่างจากอุโบสถของวัดไทยทั่ว ๆ ไป ช่อฟ้าจะมีรูปหน้าคน ส่วนใบระกาเป็นรูปนาค ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะการก่อสร้าง และทุกวันนี้แม้ว่าทางวัดกำแพงเหนือจะมีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ แต่อุโบสถหลังเก่าที่ได้มีการบูรณะซ่อมแซมยังถือเป็นโบราณสถานที่มีความเก่าแก่และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาวลาวเวียงที่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดราชบุรี

ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 9 ก.พ.50

วัดหนองกระทุ่ม(เขมาราม)


วัดหนองกระทุ่ม (เขมาราม) เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 11 บ้านหนองกระทุ่ม ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ตามประวัติความเป็นมาในสมัยก่อนนั้นบริเวณพื้นที่แถบนี้จะมีแอ่งน้ำขนาดใหญ่และมีต้นกระทุ่มอยู่เต็มพื้นที่ ชาวบ้านจะนำโค กระบือแวะมากินน้ำในแอ่งน้ำ ซึ่งภายหลังชาวบ้านจะเรียกว่า บึงทะเล ต่อจากนั้นชาวบ้านก็อพยพ มาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่จนมีการจัดตั้งหมู่บ้านโดยใช้ชื่อว่า บ้านหนองกระทุ่ม เนื่องจากมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ส่วนวัดหนองกระทุ่ม ในช่วงแรกจะเป็นที่พักสงฆ์ จน พ.ศ. 2469 จัดเป็นสำนักสงฆ์ซึ่งแต่เดิมจะตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนหนองกระทุ่มในปัจจุบัน และเมื่อคนใน ตระกูลกิจมณี ได้บริจาคที่ดินทางสำนักสงฆ์และมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าสำนัก จนถึง พ.ศ. 2537 มีเจ้าสำนักสงฆ์ชื่อ สำราญ ปิยธโร ได้เริ่มก่อสร้างถาวรวัตถุ กุฏิ ศาลาเป็นการชั่วคราว มาถึง พ.ศ.2539 ได้วางศิลาฤกษ์อุโบสถขึ้นในปีนั้นแต่ไม่สำเร็จ จน พ.ศ.2542 ได้ทำการขอวิสุงคามสีมา จัดตั้งวัดขึ้น มี พระอธิการสำราญ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก หลังจากที่พระอธิการมรณภาพ พระมหาจักรพันธ์ ชนสโพที่มาช่วยพัฒนาวัดจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบันมีการก่อสร้างศาสนสถาน ถาวรวัตถุเหลือเพียงอุโบสถทียังสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่ทุกวันนี้วัดหนองกระทุ่มจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนามาจนถึงปัจจุบัน…


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 7 ก.พ.50

พระพุทธรูปปางมารวิชัยวัดเกาะ




วัดเกาะศาลพระเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควอ้อม ต.เกาะศาลพระ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี ประวัติไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่จากหลักฐานทางศิลปะลวดลายหน้าบันอุโบสถหลังเก่า สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งบริเวณโดยรอบอุโบสถหลังเก่ามีต้นอินจัน อายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี และภายในอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.80 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง พร้อมด้วย พระโมคคลาน์ พระสารีบุตร ประดิษฐานอยู่ภาในอุโบสถ คาดว่ามีอายุกว่า 200 ปี ซึ่งในแถบลุ่มน้ำแม่กลอง คลองแควอ้อม พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถเก่าแก่ของวัดเกาะศาลพระนับเป็นพระพุทธรูปศิลาแลงที่มีความเก่าแก่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมทางโบราณคดี เฉกเช่นความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแถบลุ่มน้ำคลองแควอ้อม อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 30 พ.ค.50

ศาสนสถานวัดทุ่งน้อย




วัดทุ่งน้อยเป็นวัดที่มีการจัดตั้งมากว่า 50 ปี โดยอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ 11 ต.หินกอง อ.เมืองราชบุรี เขตติดต่อกับตำบลปากช่อง อ.จอมบึง เดิมเป็นสำนักสงฆ์และได้รับการ จัดตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2505 มีศาสนสถานที่สำคัญและมีความโดดเด่นคือวิหาร แปดเหลี่ยมที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระศรีเมืองราษฎร์ ซึ่งพระครูจันทศาลานุวัฒน์หรือปลัดเรียบ อดีตปลัดอำเภอและเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดทุ่งน้อยได้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2536 โดยกระทำพิธีหล่อองค์พระวันที่ 5 กรกฎาคม 2536 และนำขึ้นแท่นประดิษฐานวิหารแปดเหลี่ยมวันที่ 1 พฤษภาคม 2537 และบริเวณโดยรอบองค์วิหารแปดเหลี่ยมก็จะมีพระประจำวันให้ พุทธศาสนิกชนได้สักการะกราบไหว้และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่ เช่นเดียวกับหลวงพ่อดำศิลา ประดิษฐานที่วิหารใกล้กับวิหารแปดเหลี่ยมเป็นพระพุทธรูปที่ขุดพบบริเวณคลองหลวง เขางูและได้นำมาประดิษฐานที่วัดทุ่งน้อย ก่อนจะนำมาประดิษฐานที่วิหารในปัจจุบัน



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 30 เม.ย.50

วัดเกาะตาพุด




วัดศรีมฤคทายวัน หรือวัดเกาะตาพุด ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นวัดที่มีการจัดตั้งมากว่า 70 ปี โดยหลวงพ่อแทน ธรรมโชติ อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะตาพุดองค์แรกได้เป็นผู้มีส่วนในการพัฒนาก่อสร้างศาสนสถานและจัดตั้งวัดหลวง จากที่หลวงพ่อแทนมรณภาพ ทางพุทธศาสนิกชนจึงได้มีการสร้างรูปหล่อองค์หลวงพ่อแทน ประดิษฐานบริเวณวิหารหน้าอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2523 เพื่อระลึกถึงหลวงพ่อแทนที่ได้ทำนุบำรุงจัดสร้างวัดมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงอดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะตาพุดในรุ่นต่อมา ซึ่งปัจจุบันนี้วัดศรีมฤคทายวันหรือวัดเกาะตาพุดจะมีประชาชนให้ความศรัทธาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความศรัทธาแด่หลวงปูอุทัย หรือ พระครูสังฆรักษ์อุทัยปภงกโร โดยทุกวันนี้จะมีพุทธศาสนิกชนทั่วไปจากทั้งสารทิศมาให้หลวงปู่อุทัยได้รดน้ำมนต์ รวมถึงเจิมยวดยานพาหนะ ซึ่งเป็นวิถีความเชื่อที่ประชาชนยังไม่เสื่อมคลายต่อความศรัทธาต่อหลวงปู่อุทัย วัดเกาะตาพุด ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 28 พ.ค.50

วัดศาลเทพนิมิตร วัดบ้านไร่




วัดบ้านไร่ เป็นวัดที่ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.บ้านไร่ อ.เมืองราชบุรี เขตติดต่อกับ ต.คูบัว นอกจากเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน บริเวณด้านหน้าวัดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของศาลเทพนิมิตร ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ ทราบว่า ศาลเทพนิมิตรเปรียบเสมือน เป็นศาลพระภูมิเจ้าที่ของวัดบ้านไร่ และชาวบ้านเขตพื้นที่บริเวณใกล้เคียงและการสร้างศาลเชื่อว่าได้มีการจัดสร้างคราวเดียวกับการก่อสร้างวัดบ้านไร่ นอกจากเป็นศูนย์รวมจิตใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ จากอดีตจนถึงปัจจุบันชาวบ้านได้มีการสักการะ ขอโชคลาภตามวิถีความเชื่อของคนไทย เฉกเช่น ศาลเจ้า หรือศาลพระภูมิเจ้าที่ สถานที่สิ่งสถิตย์ ของเหล่าวเทวดา เจ้าที่เจ้าทาง



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 27 มิ.ย.50

โคกนายช่วง-บ้านกลางปู่ฟ้า


หมู่บ้านปู่ฟ้าเป็นพื้นที่หนึ่ง อยู่หมู่ที่ 3 ตำบลคูบัว อำเภอเมืองราชบุรี และเป็นพื้นที่แหล่งโบราณคดีที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เมืองโบราณคูบัว โดยหมู่บ้านกลาง ปู่ฟ้า ตามประวัติศาสตร์ความเป็นมา เป็นบ้านกลางที่อยู่กึ่งกลางอาณาเขตพื้นที่แหล่งประวัติศาสตร์และความเชื่อ หลวงปู่ฟ้าเป็นผู้ปกปักรักษาชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความปลอดภัย ปัจจุบันสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านจะมีลำคลองสายน้ำเล็กๆ ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน มีสภาพแวดล้อมไปด้วยทุ่งนา และต้นไม้ล้อมรอบหมู่บ้าน รวมถึงมีศาลปู่ฟ้าที่ชาวบ้านให้ความเคาระสักการะ นอกจากนี้บริเวณกลางหมู่บ้านยังมีโบราณสถานหมายเลข 2 ที่ชาวบ้านเรียกว่า โคกนายช่วง แม้ว่าโบราณสถานหมายเลข 2 จะมีความชำรุดทรุดโทรม เหลือแต่โคกดิน และเศษก้อนอิฐ แต่ชาวบ้านและชาวคูบัวก็ยังให้ความสำคัญ เพราะนั่นคือเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์และดบราณคดีที่มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของชาวคูบัว

ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 26 ก.ย.50

วัดห้วยชินสีห์




วัดห้วยชินสีห์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลห้วยชินสีห์ ตำบลอ่างทอง อำเภอเมืองราชบุรี ตามประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งวัด เดิมมีฤาษีมาตั้งอาศรม บนยอดเขาใหญ่มีลำห้วยไหลผ่าน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าห้วยฤาษี ภายหลังเมื่อมีการจัดตั้งวัด และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2482 โดยอดีตสมเด็จพระสังฆราชได้มีการเปลี่ยนชื่อ จากวัดห้วยฤาษีเป็นวัดห้วยชินสีห์ เพื่อให้ชื่อเรียกเป็นสากล และบริเวณสระน้ำใกล้กับทางเข้าวัด ได้มีการสร้างศาลพระฤาษีใต้ต้นโพธิ์ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระฤาษีที่เป็นผู้ริเริ่มสร้าง วัดห้วยชินสีห์ มีเจ้าอาวาสองค์แรกชื่อพระครูพุทธสาราภิรัตน์ พุทธฺสโร หรือหลวงพ่อสด ท่านได้สร้างศาสนสถานถาวรวัตถุ เพื่อน้องรำลึกถึงอดีตเจ้าอาวาสพุทธศาสนิกชน และชาวบ้านจึงได้จัดสร้างรูปหล่อองค์หลวงพ่อสดไว้ที่วิหาร รวมถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์โต และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะกราบไหว้ ส่วนอุโบสถหลังปัจจุบันเป็นอุโบสถหลังแรกที่สร้างด้วยเงินบริจาคและฝีมือของชาวบ้านที่ได้ร่วมกันก่อสร้าง แล้วเสร็จราวปี พ.ศ.2500 และมีการปิดทองฝังลูกนิมิตรเมื่อปี พ.ศ.2542



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 25 มิ.ย.50

ศาสนสถานวัดอรัญญิกาวาส







วัดอรัญญิกาวาสนับเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี โดยมีศาสนสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีอายุกว่า 500 ปี ซึ่งพระปรางค์วัดอรัญญิกาวาสมีการสร้างเมื่อ พ.ส. 2030-2035 เป็นเจดีย์ 4 องค์ แบบบัวผัน สร้างไว้ 4 มุม รอบพระปรางค์ ปัจจุบันเหลือทางทิศใต้เท่านั้น ลักษณะเป็นหินทราย ผู้สร้าง ขุญหาญ บุญไทย บูรณะครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2425-2440 จึงแล้วเสร็จ ส่วนพระนอน ที่ปัจจุบันมีการบูรณะใหม่ มีการสร้างพร้อมกับ พระปรางค์ลักษณะหินทรายแดง มีความยาว 15 วา ทำการบุรณะซ่อมแซมโดยการสร้างครอบองค์จริง องค์ที่ สร้างใหม่มีความยาว 30 วา ซึ่งศาสนสถานที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์ นอกจากพระปรางค์และพระนอนก็ยังมีอุโบสถเก่าแก่ รวมถึงสภาพภูมิทัศน์ที่ร่มเงาด้วยต้นจัน อายุกว่า 100 ปี เป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ที่มีความเชื่อมโยงกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของวัดอรัญญิกาวาสจนถึงปัจจุบัน




ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 25 พ.ค.50

พระประธานในอุโบสถวัดหนองหมี


วัดหนองหมี เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 4 ต.ท่าเคย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี โดยในการสร้างอุโบสถ ได้นำพระประธานที่แกะจากหินพระธาตุมาประดิษฐาน ซึ่งตามประวัติความเป็นมา ตำนานหินพระธาตุ เขาสามร้อยยอด หินพระธาตุ เขาสามร้อยยอดที่วัดหนองหมี นำมาแกะเป็นพระประธาน เพื่อประดิษฐานภายในอุโบสถของวัดหนองหมี ซึ่งสร้างขึ้นในปีมหามงคล โดยวางศิลาฤกษ์วันที่ 12 มีนาคม 2549 และเริ่มการก่อสร้างอุโบสถวันที่ 9 มิถุนายน 2549 และได้หินพระธาตุมาแกะเป็นพระประธาน หินพระธาตุศักดิ์สิทธิ์นี้มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเทือกเขาที่ซับซ้อน ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หินดังกล่าวจะซ้อนตัวโดยการฝังอยู่ในแท่งหิน บางคนอาจเรียก หินพระธาตุ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า พระธาตุในไข่หิน หินพระธาตุเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชอบสะสม เครื่องรางของขลังมานานกว่า 40 ปีแล้ว และทุกวันนี้ประชาชนก็ยังให้ความศรัทธา แม้อุโบสถจะยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ก็ยังมีประชาชนมากราบสักการะอย่างต่อเนื่อง และนำวัตถุมงคลไปบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลกับชีวิต

ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 25 เม.ย.50

ศาลแม่นางตะเคียนทอง




สายน้ำที่ไหลลดลั่นผ่านโขดหินของห้วยหนึ่ง ต้นธารน้ำของน้ำตกแม่ประจัน แห่งอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน เขตเทือกเขาตะนาวศรี ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ช่วงกลางฤดูฝนทำให้สภาพผืนป่าแห่งนี้มีความชุ่มชื่น บริเวณลำห้วย 1 เขตติดต่อกับอ่างเก็บน้ำ พืชพันธุ์ไม้ชูช่อเขียวชะอุ่ม พันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ที่หายาก ยังคงแผ่กิ่งก้านสาขา เฉกเช่นไม้ตะเคียนทองอายุกว่า 100 ปี ที่ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่ถูกตัดโค่นและเสมือนเป็นศูนย์กลางพันธุ์ไม้แห่งผืนป่าอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ผ้าแพรสลับสีที่พันรอบโคนตะเคียนทองเป็นเสมือนการปกป้องไม้ให้ตะเคียนทองอายุกว่า 100 ปี หลุดรอดด้วยน้ำมือของคมเลื่อย ด้วยความเชื่อความศรัทธาของผู้มาเยือนผืนป่าอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจันแห่งนี้ จึงเป็นที่ประดิษฐานของศาลแม่นางตะเคียนทอง วิถีความเชื่อ ความศรัทธาในโชคลาภที่บ่มเพาะด้วยธรรมชาติ ณ วันนี้ ศาลแม่นางตะเคียนทองและต้นตะเคียนทองเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของผุ้มาเยือนและการปกป้องผืนป่าตะวันตก แห่งเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้ความชุ่มชื่นของผืนป่าและสายธารยังคงอยู่คู่กับศาลแม่นางตะเคียนทอง เแกเช่นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันที่เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชีเขตตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ ตำบลบ้านบึง กิ่งอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี อุทยานที่เตรียมประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 23 ก.ค.50

ต้นสาละวัดพระศรีอารย์


วัดพระศรีอารย์ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่ สันนิษฐานว่ามีการสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีศาสนสถานสำคัญ ที่มีการก่อสร้างในอดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ต้นสาละที่อยู่ข้างหอระฆังของวัดพระศรีอารย์ ถือว่ามีความเชื่อมโยงกับพุทธกาลและพระครูสิริพัฒนกิจ (หลวงพ่อขันธ์ กันตธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีอารย์ โดยหลวงพ่อขันธ์ได้นำต้นสาละมาจากประเทศอินเดีย (ส่วนแยกของประเทศเนปาล) เมื่อครั้งไปนมัสการสังเวชนียสถานในปี พ.ศ.2518 ต้นสาละเป็นต้นไม้ที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนา ตามพุทธประวัติ กล่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะราชกุมาร (ก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) ได้ประสูติจาก พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา ณ ใต้ต้นสาละ ในคราวเสด็จประพาสสวนลุมพินีวัน ลักษณะเด่นของต้นสาละ เป็นต้นไม้ที่ออกดอกตามลำต้น ซึ่งไม่เหมือนต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ดอกสีชมพูอมแดง กลิ่นหอม และออกดอกตลอดทั้งปี


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 23 พ.ค.50

ศาสนสถานเก่า วัดเทพอาวาส


วัดเทพอาวาสเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง โดยมีโบราณสถาน ศาสนสถาน ที่มีความเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งอุโบสถเก่าปัจจุบัน ยังหลงเหลือโครงสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณ ที่เป็นการก่ออิฐถือปูน และโครงสร้างที่สร้างด้วยไม้ ซึ่งอุโบสถหลักแรกของวัดที่ในปัจจุบันมีการดัดแปลงเป็นวิหาร รูปแบบโครงสร้างลายลุไม้ แม้จะมีความทรุดโทรม แต่ความเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะช่างไม้ยังคงเหลือรูปแบบสถาปัตยกรรม เฉกเช่น ศาลาการเปรียญเก่า ด้านหน้าอุโบสถหลังใหม่ ก็นับเป็นสิ่งปลูกสร้าง ศาสนสถานเก่าแก่ของวัดเทพอาวาส รวมถึงอุโบสถเก่าหลังที่ 2 สถาปัตยกรรมงานปูนปั้นและงานโครงสร้างหลังคา ช่อฟ้าใบระกา ที่สร้างด้วยไม้ ก็นับเป็นศิลปะการก่อสร้างของช่างช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ที่วัดเทพอาวาสริมแม่น้ำแม่กลอง เมืองราชบุรี


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 23 เม.ย.50

ภาพจิตกรรมฝาผนังวัดแจ้งเจริญ




สายน้ำคลองแควอ้อม-คลองประดู่เป็นสายน้ำที่เชื่อมต่อจากแม่น้ำแม่กลองเขตอำเภอเมืองราชบุรีก็สามารถ สัมผัสวิถีชาวคลองวัดเพลง ตามเส้นทางหมายเลข 3088 ก็จะผ่านสวนมะพร้าว เลือกสวนและบรรยากาศชีวิตริมน้ำ ที่สงบเงียบ เรียกหาก๋วยเตี๋ยวเรือ เรือขายโอเลี้ยงสามารถ เลือกซื้อลองชิม ซึ่งเป็นเสน่ห์ในวิถีชีวิตชาวคลองอำเภอ วัดเพลง นอกจากนี้ก็จะผ่านโบสถคริสต์วัดเพลงอายุกว่า 100 ปีและวัดวา อารามที่มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่วัดแจ้งเจริญ ตำบลจอมประทัด อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ที่อยู่ริมคลองประดู่เขตติดต่อกับอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีภาพเขียนบนศาลาการเปรียญ ซึ่ง วาดไว้เต็มเพดานมีทั้งหมดสี่ช่อง หากเริ่มต้นตั้งแต่ช่องตรง บริเวณที่ตั้งธรรมาสน์วาดเป็นรูปพระพรหม ช่องถัดไปเป็นรูป กระต่ายอยู่ในวงกลมเข้าใจว่าจะเป็นสัญลักษณ์ของดวงจันทร์ ช่องต่อมาเป็นรูปสิงห์อยู่ในวงกลมอันเป็นสัญลักษณ์ของ พระอาทิตย์รายล้อมด้วยเหล่าเทพยดาและนางฟ้า ช่องสุดท้าย เป็นรูปสิงห์อยู่ในวงกลมเช่นกันแต่ไม่มีเหล่าเทพยดานางฟ้าล้อม รอบตาขอบของแต่ละช่องเขียนลายกระจังและลายประจำยาม ก้ามปู ซึ่งภาพเขียนดังกล่าวมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของ ท้องถิ่น



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 23 มี.ค.50

ตำบลยางงาม


เมื่ออดีตกาลมีตำนานเล่าขานถึงตำบลวัดยางงามอยู่ด้วยกัน 2 ตำนาน โดย
ตำนานแรก จะพรรณนาถึงความงดงามของพื้นที่ตำบลนี้ว่า สมัยก่อนพื้นที่บริเวณนี้ มีต้นยางขึ้นอยู่กระจัดกระจายเป็นจำนวนมากและมีฝูงนกกระยางสีขาวมาเกาะต้นยาง ต้นละหลายตัว อาศัยเป็นที่พำนักพักพิงแลดูสวยงดงาม จนเป็นที่กล่าวขวัญถึง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันเรียกขานบริเวณนี้ว่า บ้านยางงาม
ในเวลาต่อมา เมื่อชุมชนหนาแน่นขึ้น ได้มีการสร้างวัดวาอารามและแบ่งเขตการปกครองยกฐานะขึ้นเป็นตำบล บ้านยางงามจึงได้รับชื่อใหม่ว่า ตำบลวัดยางงาม ซึ่งปัจจุบันต้นยางที่เคยยืนต้นอวดความงามให้ใครต่อใครได้เห็น ถูกโค่นล้มลงไปเป็นจำนวนมาก เพื่อทำสวนมะพร้าว แต่ก็ยังพอมีต้นยางและนกกระยางให้เห็นอยู่ประปราย
ตำนานที่สอง เป็นตำนานโศกนาฏกรรมที่เล่าขานต่อ ๆ กันมาว่า นานมาแล้ว ในบริเวณนี้เคยมีหญิงสาวแรกรุ่น รูปโฉมงดงามมาก จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วคุ้งน้ำ พายเรือไปตามคลองเพื่อเยี่ยมญาติต่างตำบล แล้วหายสาบสูญไปโดยไม่มีใครทราบสาเหตุ ซึ่งบริเวณที่สาวงามคนนี้หายตัวไป ปัจจุบันเรียกว่าบ้านคลองบางนางสุญ อยู่ในอำเภอ วัดเพลง จังหวัดราชบุรี ส่วนตำบลที่หญิงสาวพายเรือจากมา ชาวบ้านพากันเรียกว่า ตำบลนางงาม แต่ในเวลาต่อมา การเรียกขานได้เพี้ยนกลายมาเป็น ตำบลวัดยางงาม จนถึงปัจจุบัน


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 23 ก.พ.50

อุโบสถวัดปากช่อง


วัดปากช่อง ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ 2 ตำบลปากช่อง ได้มีการจัดตั้งวัดและได้รับวิสงคามสีมากว่า 70 ปี โดยมีศาสนสถานที่เป็นถาวรวัตถุ อุโบสถเก่าที่สร้างติดกับโรงเรียนวัดปากช่อง เป็นอาคารที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมก่อสร้างลักษณะคล้ายกับอุโบสถทั่วไป ก่ออิฐ ถือปูน มีช่อฟ้าใบระกา หลังคามุงกระเบื้อง แต่มีความแตกต่างจากอุโบสถทั่วไปคือผู้สร้างเจ้าอาวาสในสมัยนั้นต้องการสื่อถึงพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า บริเวณเชิงชายด้านข้างของอุโบสถได้มีการเขียนภาพพุทธประวัติ ด้านละ 3 ภาพ ซึ่งปัจจุบันภาพทั้ง 6 ภาพ ยังมีสภาพที่สมบูรณ์ แม้ว่าอุโบสถของวัดปากช่อง จะเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่อายุ 100 ปี แต่ก็มีเอกลักษณ์ประจำถิ่นที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และพุทธศาสนา

ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 22 มิ.ย.50

อุโบสถเก่าวัดพระศรีอารย์




วัดพระศรีอารย์เป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยมีอุโบสถเก่าที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ประมาณปี พ.ศ. 2275 ตัวอุโบสถสร้างแบบก่ออิฐถือปูน กว้าง 4.75 เมตร ยาว 9 เมตร เป็นอุโบสถมหาอุต คือมีเพียงประตูด้านหน้าไม่มีหน้าต่าง ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์มาตามลำดับ จนครั้งล่าสุดในช่วง พ.ศ. 2540 แม้ว่าในปัจจุบันโครงสร้างของอุโบสถจะมีการบูรณะให้เข้ากับยุคสมัย แต่ภายใน มีพระพุทธรูปเก่าแก่ 3 องค์ คือหลวงพ่อแช่ม หลสงพ่อพลอยและหลวงพ่อปาน เป็น พระพุทธรูปสร้างด้วยอิฐดินเผาศิลปะพื้นบ้าน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยเดียวกับอุโบสถ ด้านทิศเหนือมีสระน้ำและศาลปู่ดำ แม้ว่าปัจจุบันทางวัดพระศรีอารย์จะมีการสร้างอุโบสถทองคำใหญ่โต แต่ทางวัดยังคงมีการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และการตั้งวัดพระศรีอารย์สืบมา



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 21 พ.ค.50

วัดยางงาม




วัดยางงามถือเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ตั้งติดกับคลองประดู่ เขตพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ยางงาม อ.ปาท่อ เขตติดต่อกับตำบลจอมประทัด อ.วัดเพลงและ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดยมีคลองประดู่เป็นสายน้ำเชื่อมความสัมพันธ์และวัดยางงามเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน 2 ฝั่งคลอง ซึ่งปัจจุบันสภาพแวดล้อมวิถีชีวิตของผู้คนยังมีวิถีชีวิตแบบดั่งเดิม ตามประวัติของวัดยางงาม มีเรื่องเล่าว่ามีพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่ง มีนามว่า พระภิกษุกก ได้ธุดงค์เดินจารึกมายังบริเวณนี้ และเห็นเป็นพื้นที่ดงไม้ยางหนาแน่นเหมาะสมในการบำเพ็ญภาวนา จึงได้มีการปักกลดพักอาศัยในบริเวณนี้ ประชาชนมีศรัทธาในจริยวัตรที่น่าเลื่อมใส จึงได้อาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นี่ ต่อมาประชาชนจึงได้ร่วมกันปฏิสังขรณ์และอาราธนาหลวงปู่แย้มจากวัดมหรรณพ จากรุงเทพฯ มาจำพรรษาอยู่อย่างถาวรที่วัดนี้ และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 1 ของวัดยางงามแห่งนี้
ศาสนสถานที่สำคัญของวัดและเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชาชนจากอดีตจนถึงปัจจุบันคือ วิหารหลวงพ่อโต ที่มีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติและมณฑปรอยพระพุทธบาทที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในเขตพื้นที่ อ.ปากท่อ อ.วัดเพลงและอ.อัมพวา จ.สมุทรสงครามจนถึงทุกวันนี้



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 21 ก.พ.50

หอสวดมนต์-ศาลาดินวัดช่องลม


วัดช่องลม นอกจากเป็นที่ประดาฐานหลวงพ่อแก่นจันทน์ พระคู่บ้านคู่เมืองราชบุรีแล้ว ยังมีศาสนสถานที่มีความเก่าแก่และมีคุณค่าทางจิตกรรม โดยหอสวดมนต์ทรงไทย ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นกุฏิสงฆ์ รูปแบบของสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง ยังคงมีการอนุรักษ์และมีความโดเด่นสวยงาม ที่บริเวณหน้าบันมีลวดลายฉลุแบบไทย นอกจากนี้ศาลาดินที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกันกับหอสวดมนต์มีภาพเขียนชาดกต่างๆ บนแผ่นไม้ปิดหัวเสาของศาลาดิน ที่หน้าบันจั่วของศาลามีบันทึกข้อความไว้ว่า จีนเหม็งสามีแม่เนียมภรรยา นายสายบุตร สร้างเมือง พ.ศ. 2456 ไม่เพียงเท่านี้โครงสร้างอาคารของศาลาดิน นอกจากภาพเขียนชาดก พุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ที่มีความเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาและคุณค่าทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยหอสวดมนต์และศาลาดินของวัดช่องลมแม้ว่าปัจจุบันจะมีความทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่คุณค่าของสถาปัตยกรรม ภาพจิตกรรมที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์เมืองราชบุรีที่ไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับความศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนและชาวราชบุรีต่อหลวงพ่อแก่นจันทน์พระคู่เมืองราชบุรี


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 20 มิ.ย.50

วิหารหลวงปู่วัดเจ็ดเสมียน


วัดเจ็ดเสมียนตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เขตเทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี โดยวิหารหลวงปู่หรือที่ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียนเป็นศูนย์รวมจิตใจและเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวเจ็ดเสมียนมาอย่างช้านาน ซึ่งพระครูสัจจาภิรมย์(หลวงปู่เมือบ)และพระครูมงคลรัตน์(หลวงปู่หุ่น)อดีตเจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียนทั้ง 2 รูปได้สร้างศาสนสถาน ถาวรวัตถุตลอดจนมีการพัฒนาทำนุบำรุงวัดเจ็ดเสมียนและพุทธศาสนาจนเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนและชาวเจ็ดเสมียนมาจนถึงปัจจุบันและทุกวันนี้ชาวบ้านยังคงให้ความศรัทธา ให้ความเคารพนับถือมาอย่าง ต่อเนื่องและในช่วงท้ายสงกรานต์ งานประเพณีของชุมชนวัดเจ็ดเสมียนก็จะ มีการสรงน้ำและพิธีสักการะหลวงปู่เป็นประจำทุกปี นับเป็นวิถีความเชื่อความศรัทธาของชาวเจ็ดเสมียนต่อหลวงปู่มาจนถึงทุกวันนี้


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 20 เม.ย.50

พระพุทธวัชรมงคล วัดคีรีวงก์


เขาคีรีวงก์ ที่ทอดยาวเขตติดต่อระหว่างอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยมีวัดคีรีวงก์เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านทั้ง 2 จังหวัด และพระพุทธวัชรมงคล เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐาน ณ เชิงเขาบริเวณวัดคีรีวงก์ ซึ่งพระพุทธวัชรมงคล เป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม แด่วัดคีรีวงก์ เนื่องในปีกาญจนาภิเษกทรงครองราชครบ 50 ปี และได้รับพระราชทานนาม เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2542 นอกจากนี้สำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง ทรงพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานตราสัญลักษณ์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในงานมหามงคล 5 รอบ ประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางนั่งขัดสมาธิหน้าตักกว้าง 5 วา 3 ศอก 9 นิ้ว สูง 8 วา 2 ศอก 3 นิ้ว ณ บริเวณเชิงเขาเขตติดต่อ ต.หนองชุมพลเหนือ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี และ ต.ห้วยยางโทน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 19 มี.ค.50

วัดเฉลิมอาสน์




วัดเฉลิมอาสน์ ตั้งอยู่ฝั่งขวาของลำน้ำแม่กลอง ปัจจุบันอยู่เขตพื้นที่ ต.ท่าชุมพล อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เดิมพื้นที่เป็นป่าพุทรา มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่เศษ เจ้าของชื่อบุญ ไม่ทราบนามสกุลได้ถวายที่ดินเป็นที่ธรณีสงฆ์ มีอุโบสถร้างอยู่ 1 หลัง มุงด้วยหญ้าคา ฝาขัดแตะไม้ไผ่ ผูกพัทสีมาเสร็จ สืบได้ว่าไม่ปรากฏท่านผู้ใดมาทำการสร้างไว้ พระภิกษุ ที่มาจำพรรษา ธุดงค์มาจากที่อื่น ชาวบ้านในละแวกนั้น ได้นิมนต์ให้จำพรรษา ต่อมาท่านพระครูธรรมเสนานี (แจ่ม) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรีในขณะนั้นอยู่วัดโชคฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้าน ขอให้มีพระไปจำพรรษา เพื่อจะได้ทำบุญ จึงได้เห็นความจำเป็นของชาวบ้าน จึงได้คัดเลือกพระภิกษุที่มีความสามารถมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เพื่อจะได้ฉลองศรัทธา ทายก ทายิกา จึงข้ามแม่น้ำแม่กลองพาพระมาอยู่จำพรรษา 5 รูป ในคณะที่มามีภิกษุ 1 รูป คือ พระภิกษุเลี้ยง โสภิโต รวมอยู่ด้วย อยูได้ไม่กี่ปี พระที่ส่งมาก็หนีบ้าง อยู่จนเหลือแต่พระภิกษุเกลี้ยง ต่อมาท่านพระธรรมเสนานีได้ช่วยสร้างศาลาการเปรียญ 1 หลัง พร้อมทั้งแท่นใส่บาตร และแต่งตั้งพระภิกษุเกลี้ยง เป็นเจ้าอาวาสหลังจากนั้น พระภิกษุเกลี้ยง ได้สร้างกุฎิ หอฉันท์ หอสวดมนต์ ดรงเรียนประชาบาล อุโบสถ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรม จนถึงวาระสุดท้ายได้มารณะภาพ ทายก ทายิกาได้สร้างรูปหล่อพระภิกษุเกลี้ยง เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ท่านมีส่วนสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้ รวมถึงอดีตเจ้าอาวาสของวัดเฉลิมอาสน์ เช่นเดียวกับศาสนสถาน วิหารพระพุทธรูปปางเลไลย์องค์โต ริมแม่น้ำแม่กลอง




ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 18 ก.ค.50

สมเด็จพระศรีสุริยวงศ์


คลองดำเนินสะดวก สายน้ำประวัติศาสตร์ ที่มีความเชื่อมโยงกับวิถีท้องถิ่น และพุทธศาสนา โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 นอกจากเป็นผู้อำนวยการขุดคลองดำเนินสะดวกตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยใช้งบประมาณจากการบริจาคทรัพย์สินส่วนพระองค์ในการขุดลอกคลองเริ่มจากประตูน้ำบางยาง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ผ่าน อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และ อ.บางคนดี จ.สมุทรสงคราม การขุดคลองสายนี้ใช้แรงงานทหาร ข้าราชการ และประชาชน โดยมิได้ใช้เครื่องจักรใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ท่านเป็นบุตรของสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) และท่านผู้หญิงจันทร์ ท่านเกิดในรัชกาลที่ 1 และเริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 3 ท่านยังเป็นผู้อำนวยการสร้างวัดประสาทสิทธิดาราม ราว พ.ศ.2498 เพื่อปฏิบัติตามความประสงค์ของบิดาและอุทิศส่วนกุศลให้กับน้องสาว ที่วายชนม์ไปแล้ว โดยชื่อวัดเป็นชื่อบิดามีเนื้อที่ ธรณีสงค์ บริเวณตั้งวัด 12 ไร่เศษ ปัจจุบันวัดใช้ชื่อว่า วัดประสาทสิทธิ์ และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ราษฎร ในพื้นที่และทางวัดจึงได้สร้างพระบรมรูปของสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ประดิษฐานที่วิหารหน้าวัดติดกับคลองดำเนินสะดวก – หลักห้า เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้น้อมรำลึกสืบไป

ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 18 มิ.ย.50

ศาลแม่เฒ่าขาว


ศาลแม่เฒ่าขาว หรือ ศาลแม่เจ้าขาว เป็นศาลเจ้าประจำชุมชนดอนกลาง หมู่ที่ 2เขตเทศบาลตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี นับเป็นศูนย์รวมจิตใจ ของคนไทยเชื้อสายลาวเวียง ที่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ตำบลบ้านเลือก โดยศาลแม่เจ้าขาว ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธามาตั้งแต่อดีต และในปัจจุบันยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชน รวมถึงคนในชุมชนยังคงมีการสักการะบนบานสานกล่าวให้ศาลเจ้าแม่ขาว ทำนาย ทายทัก เมื่อสบประสงค์ ก็จะนำเครื่องเซ่นไหว้แก่ศาลเจ้าแม่ขาว โดยเจ้าแม่เฒ่าขาวหรือแม่เจ้าขาว จะชื่นชอบขนมข้าวปุ้น หรือขนมจีน ซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมประเพณี ความเป็นรากาเหง้าของลาวเวียงชุมชนดอนกลาง และในทุกปี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านจะมีการจัดงานสักการะศาลแม่เฒ่าขาว และงานประเพณีตำข้าวปุ้น เพื่อสักการบูชาศาลแม่เฒ่าขาว และทุกวันนี้ความศรัทธาต่อศาลแม่เฒ่าขาว ยังคงไม่เสื่อมคลายตามวิถีประเพณีของลาวเวียงชุมชนบ้านดอนกลางจนถึงปัจจุบัน


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 18 เม.ย.50

วิหารราย วัดมหาธาตุ







วิหารราย วัดมหาธาตุวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่หน้าพระปรางค์ นอกระเบียงคค มีการจัดสร้างไว้ 4 หลัง โดยมีวิหารหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยายุคต้น เรียกว่า พรมงคลบุรี พระศรีนัคร ซึ่งวิหารรายจะตั้งอยู่ 4 ทิศ รายล้อมวิหารหลวง โดยวิหารรายที่ตั้งอยู่ทิศเหนือ นับเป็นวิหารที่สำคัญนอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นหันหลังชนกันคล้ายกับวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยศิลา เป็นศิลปะอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปประธานประจำโบสถ์ร่างของวัดร้างที่อยู่รายล้อมวัดมหาธาตุวรวิหารในอดีต นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของรูปหล่อของอดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุวรวิหาร ประกอบด้วย หลวงพ่อตั๋น วชิโร พระราชธรรมเสนาที (หลวงพ่อสุข สุภทโท) เจ้าอธิการแพ ปุณณาปาโต และพระเทพวิสุทธิโมลี เจ้าคุณช่วย มหาธีโร ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาวาสที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนา วัดและจนถึงปัจจุบันนี้ยังเป็นที่เคารพ นับถือ ของพุทธศาสนิกชนไม่เสื่อมคล้าย




ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 17 ก.ย.50

หลวงพ่อโต วัดปราโมทย์


วัดปราโมทย์ เป็นวันเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ติดกับคลองแควอ้อม อ.บางคณที จ.สมุทรสงคราม เขตติดต่อกับอำเภอวัดเพลง จ.ราชบุรี โดยมีหลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อายุกว่า 100 ปี องค์ใหญ่ระดับประเทศ ตามประวัติหลวงพ่อตุ้ยอดีตเจ้าอาวาส องค์ที่ 3 ของวัดปราโมทย์เป็นผู้สร้างหลวงพ่อโต โดยมีพุทธศาสนิกชนคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานให้ความเคารพนับถือ และองค์หลวงพ่อโตในแถบลุ่มแม่น้ำจะมีการจัดสร้างประดิษฐานอยู่หลายวัด แต่องค์หลวงพ่อโตวัดปราโมทย์จะมีความแตกต่างกับวัดอื่นๆ คือจะไม่มีพระเกียรติยศหรือเศียรองค์หลวงพ่อโต ซึ่งเป็นองค์พระศรีอารย์ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและทุกปีในช่วงขึ้น 15 ค่ำและแรม 1 ค่ำเดือน11 จะมีงานสักการะองค์หลวง พ่อโต เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะกราบไหว้ ปัจจุบันได้มีการสร้างวิหารใหญ่เพื่อประดาฐานองค์หลวงพ่อดตที่มีดครงสร้างศิลปะของจีน ตามประวัติเชื่อว่าชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนจะให้ความนับถือ จนมีการเรียกชื่อท้ายหลวงพ่อโตว่า ซำปอกง ที่นับเป็นเทพเจ้า องค์หนึ่งที่ให้ความศรัทธา ทุกวันนี้พุทธศาสนิกชนทั่วไปยังคงให้ความศรัทธา มีการขอพร ขอโชคขอลาภ เมื่อสมความปารถนาก็จะนำประทัดมาเซ่นไหว้ โดยเชื่อว่าหลวงพ่อโตชอบยิ่งนัก


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 15 มิ.ย.50

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว




ค่ายหลวงบ้านไร่ ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม เคยเป็นค่ายฝึกซ้อมรบเสือป่าซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกิจการลูกเสือที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดมาประทับแรมเวลานำกองเสือป่ามาซ้อมรบในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยเสด็จฯมาซ้อมรบและประทับแรมที่บริเวณบ้านไร่นี้ถึง 9 ครั้ง ทางราชการจึงเห้นว่าสถานที่บ้านไร่นี้เป้นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง จึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระบรมยาลักษณ์ที่เคยประทับพระเก้าอี้ขณะทอดพระเนตรการซ้อมรบของเล่าเสือป่า ณ ค่ายหลวงบ้านไร่แห่งนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จฯทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2531 และต่อไปทางราชการจะขยายพื้นที่ ค่ายหลวงบ้านไร่นี้ ให้กว้างขวางออกไปเพื่อจัดตั้งเป็นค่ายลูกเสือแห่งชาติ สำหรับการฝึกหัดพักแรมและการทำกิจกรรมต่างๆของเหล่าลูกเสือและเยาวชนจากสถาบันต่างๆ ผลสำเร็จของการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ณค่ายหลวงบ้านไร่นี้เกิดจากการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ของหม่อมหลวงปิ่นมาลากุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายอภัย จันทวิมล อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการและข้าราชการ พ่อค้าประชาชนจำนวนมาก



ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 16 พ.ค.50

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ศาสตร์แผนแพทย์ไทยวัดท่าราบ


วัดท่าราบเป็นวัดเก่าแก่สมัยต้นรัตนโกสินทร์มีอายุกว่า 100 ปี อยู่ในเขตพื้นที่ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โดยมีอุโบสถเก่า เป็นถาวรวัตถุที่ความสำคัญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัดท่าราบแห่งนี้นอกจากเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนา ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชน วัดท่าราบยังเป็นศูนย์ชมรมแพทย์แผนไทย โดยพระครูวิฑิตวรเวช หรือหลวงปู่อินทร์ อดีตเจ้าอาวาส ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย และได้เผยแพร่ความรู้ในศาสตร์แขนงนี้ทางหนังสือต่าง ๆ ในนาม ส.เปลี่ยนศรี พร้อมได้ก่อตั้งชมรมแพทย์แผนไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2534 เมื่อท่านมรณภาพ ศิษยานุศิษย์ได้สร้างรูปหล่อของท่านและประดิษฐานไว้ที่วิหาร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะกราบไหว้ และศาสตร์ด้านหมอพื้นบ้าน หรือแพทย์แผนไทย ที่หลวงปู่อินทร์คงได้รับการสืบทอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาของทางการแพทย์แผนไทยมาจนถึงปัจจุบัน


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 15 ส.ค.50

เจดีย์ทรงรามัญ


บริเวณช่องตะโกปิดทอง เขตชายแดนไทย-พม่า อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเป้าหมายการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย – พม่า โดยบริเวณแนวตะเข็บชายแดน สัมปทานเหมืองแร่เก่า ที่มีบรรยากาศของธรรมชาติแวดล้อมที่สวยงาม ที่สามารถสัมผัสกับทิวทัศน์เขตชายแดนไทย-พม่า นอกจากนี้สำนักสงฆ์ที่มีการก่อสร้างเจดีย์ทรงรามัญหรือทรงมอญ ที่บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ความเป็นวัฒนธรรมของมอญหรือพม่า ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับวัฒนธรรมและศาสนาพุทธ ซึ่งชาวบ้านจะเรียกเจดีย์ว่า เจดีย์ช้าง เนื่องจากบริเวณสำนักสงฆ์ จะมีโขดหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายช้าง จึงเป็นที่มาของชื่อเจดีย์ช้าง และได้มีการสร้างเสร็จเมื่อ 4 ปี ก่อนเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ของชายกระเหรี่ยง คนมอญและคนไทยที่อยู่แนวตะเข็บชายแดนได้สักการะบูชา และเป็นสิ่งย่ำเตือนในคุณค่าของวัฒนธรรมระหว่างชาติพันธ์ที่มีความสัมพันธ์ต่อกัน แม้ในยุทธศาสตร์ทหารจะมองว่าการสร้างเจดีย์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพม่า และเป็นการปักกันเขตแดนแต่ในความเชื่อความศรัทธาในวัฒนธรรม และพุทธศาสนาก็ยังมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ต่อกันไม่เสื่อมคลาย


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 14 ก.พ.50

วัดเขารังเสือ


วัดเขารังเสือที่ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่หมู่ 11 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เดิมเป็นที่พักสงฆ์ จนมาถึงยุคที่ พระครูประทีปะรรมสถิตหรือหลวงปู่ชอบ เป็นเจ้าอาวาสได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ศาสนสถานต่าง ๆ และที่วัดเขารังเสือจะมีถ้ำ ที่พระภิกษุสงฆ์ได้ปฏิบัตินั่งวิปัสสนา ตั้งแต่ยังไม่ได้จัดตั้งวัด จากประวัติของถ้ารังเสือ สมัยก่อนแถวนี้ยังเป็นป่าทึบ มีบ้านเรือนน้อยและมีเสือแม่ลูกอ่อนมาอาศัยอยู่ ณ ถ้ำนี้ และมันชอบเข้าไปคาบเอาสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านมาให้ลุกกินอยู่เสมอ จนชาวบ้านต่างเกรงกลัวเสือแม่ลูกอ่อน จึงเป็นที่โจษจันกันว่า เขาลูกนี้คงจะมีถ้ำที่เสืออยู่ได้ แต่หลังจากที่ผู้คนอพยพตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น แม่เสือและลูก จึงได้ทิ้งรังเสือแล้วหนีไปอาศัยอยู่ในป่าลึก นอกจากนั้นถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของพวกมอญที่อพยพจากสงครามสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพบหลักฐานเศษภาชนะดินเผาเครื่องใช้อยุ่ภายในถ้ำ และจากคำบอกเล่าของหลวงปู่ชอบ ถ้ำแห่งนี้ยังมีความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา จนภายหลังได้มีการสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวมถึงเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วไปในการบำเพ็ญบารมีสืบมา


ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 14 ก.พ.50

อุโบสถเก่าวัดห้วยหมู


วัดห้วยหมูเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ต.เจดีย์หัก อ.เมืองราชบุรี อุโบสถเก่าถือเป็นศาสนสถานที่มีความเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ โดยรูปแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างมีความเชื่อมโยงกับชุมชนและผุ้สร้างวัด ซึ่งการจัดตั้งวัดคาดว่ามีการสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ช่วงการกวาดต้อนลาวและเขมรที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดราชบุรี ซึ่งพื้นที่บ้านห้วยหมูก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ทำให้การสร้างอุโบสถมีความแตกต่างจากวัดทั่วไป ตามประวัติศาสตร์ความเป็นมาได้มีการสร้างอุโบสถราว พ.ศ. 2467 มีอายุในปัจจุบันกว่า 100 ปี โดยช่อฟ้าใบระกาเป็นหัวมังกรและหน้าของอุโบสถจะมีลวดลายและภาษาที่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ต่อผู้สร้างวัดและสร้างอุโบสถหลังดังกล่าว นอกจากนี้บริเวณหน้าอุโบสถยังมีพระพุทธรูปหลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนในพื้นที่ โดยปัจจุบันทางวัดห้วยหมูได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้รับทราบถึงประวัติศาสตร์และวิถีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาของไทยสืบไป

ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 12 มี.ค.50

หลวงปู่ชอบ วัดเขารังเสือ




วัดเขารังเสือ หมู่ที่ 11 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง ก่อกำเนิดที่ได้รับการพัฒนาในสมัย พระครูประทีปธรรมสถิต หรือหลวงปู่ชอบ ปทีโป เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ.2523 เดิมท่านชื่อ ชอบ พงษ์ไพบูลย์ เกิดปีจอ ตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2453 ณ ม.3 ตำบล ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี และมรณภาพเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2546 โดยร่างกายของท่านไม่เน่าเปื่อย ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงได้นำสังขารของท่านไว้ที่วิหารภายใน วัดเขารังเสือ หลวงปู่ชอบ ท่านได้มีการพัฒนาวัด สาธารณะประโยชน์ ก่อสร้างเสนาสนะ พัฒนาการศึกษาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทางศิลบริสุทธิ์ มุ่งเจริญสมาธิวิปัสสนากรรมฐานเป็นนิจ

หลวงปู่ชอบซึ่งเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ต้องสละตำแหน่งให้พระรูปอื่นเป็นแทน จะเห็นได้ว่าหลวงปู่มิได้ยึดติดกับตำแหน่ง และปัจจัยที่ผู้อุปสมบทถวายเลย นอกจากนั้นตำแหน่งอื่น ๆ ในทางสงฆ์ที่ทางอำเภอหรือจังหวัดแต่งตั้งให้หลวงปู่จะปฏิเสธตลอดมา ขอเป็นเพียงเจ้าอาวาสวัดเขารังเสือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หลวงปู่ชอบเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีแต่การให้ ใคร ๆ มาหาหลวงปู่ ขอให้หลวงปู่ผูกดวงบ้างต่อชะตาบ้าง รดน้ำมนต์บ้าง หลวงปู่ทำให้ทุกอย่าง เสร็จแล้วยังแจกวัตถุมงคลให้อีกด้วย สิ่งเดียวที่หลวงปู่ไม่ให้คือเลข ใครขอเลขหลวงปู่จะพูดเสมอว่า ถ้าหลวงปู่รู้วัดคงไม่เป็นหนี้อยู่หรอกโยม

หลวงปู่ชอบ หรือพระครูประทีปธรรมสถิต จึงเป็นพระดี เป็นพระที่ชาวจังหวัดราชบุรีและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ต่างเคารพรักศรัทธาท่านตลอดกาล




ภาพ/เรื่อง : วัฒนา อ่วมเนตร 12 ก.พ.50