วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

วัดช่องลม


วัดช่องลม พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ใกล้บริเวณเมืองเก่า ริมถนนวรเดช ใจกลางเมืองราชบุรี เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฎผู้สร้าง เดิมชื่อ วัดช้างล้ม เพราะได้มีช้างลงมากินน้ำ แล้วล้มลงบริเวณที่สร้างวัด ซึ่งเป็นปากคลอง ต่อมาในปี พ. ศ. 2457 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ทรงได้เสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์เมืองราชบุรี ได้เสด็จทรงเยี่ยมวัดช่องลม ทรงเห็นว่าบริเวณวัดมีลมผ่านสบาย เพราะตั้งอยู่ริมน้ำแม่กลอง จึงได้ทรงเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดช่องลม
วัดช่องลมเป็นที่ประดิษฐาน "หลวงพ่อแก่นจันทน์" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองราชบุรี เป็นพระพุทธปฏิมา ศิลปะสมัยทวารวดี ในส่วนตั้ง แต่พระเศียรถึงพระอุระ เป็นเนื้อทองสำริด ส่วนองค์พระสร้างด้วยไม้จันทน์หอม มีความสูงตั้งแต่พระเกศมาลาถึงพระบาท 2.26 เมตร เป็นพระพุทธปฏิมาปางอุ้มบาตร หลวงพ่อแก่นจันทน์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์และมีบารมีธรรมที่สูงส่งยิ่ง ตามปกติมีผู้มากราบไหว้บูชาขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ส่วนใหญ่จะขอให้ช่วยปัดเป่าเหตุร้ายทุกวัน จนเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของ จังหวัดราชบุรี ตลอดมา

ถ่ายภาพ อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์

วันที่ 30 – 3 - 52

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

วัดอรัญญิกาวาส


วัดอรัญญิกาวาส ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานทีน่าสนใจ คือ พระนอนองค์ใหญ่อยู่ด้านหลังองค์พระปรางค์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2030 – 2035 ลักษณะเป็นหินทรายแดง สร้างสมัยอยุธยา ยาว 15 วา ทำการบูรณะซ่อมแซม สร้างครอบองค์จริง องค์ที่สร้างใหม่มีความยาว 30 วา ทำการบูรณะโดย ท่านเจ้าพระคุณพระมหาสมณวงค์ (แท่น) ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2515 โดยกรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการ และทำการบูรณะเสร็จเป็นที่เรียบร้อย เมื่อ พ.ศ. 2547 ในสมัยของพระครูมงคลเจติยานรักษ์ (พระไฝ นาคาเสโน) ปรางค์ประธานสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2030 – 2035 เป็นเจดีย์ 5 องค์ แบบบัวผันเป็นปรางค์บริวารขนาดเล็กกว่าอยู่สี่ด้าน มีลวดลายปูนปั้นประดับสวยงาม ปัจจุบันเหลือเพียงทางทิศใต้เท่านั้น ลักษณะเป็นหินทราย ผู้สร้างคือ ขุนหาญ บุญไทย ปรางค์ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย พุทธศิลปะแบบอยุธยาประดิษฐานอยู่โดยรอบนอกระเบียงคด นอกจากพระปรางค์แล้ว ในบริเวณวัดยังมีเจดีย์ทรงระฆังกลมอีกสององค์ อยู่ทางดานหน้าของวัด เป็นเจดีย์ศิลปะแบบลังกา ซึ่งเป็นที่นิยมสร้างในศิลปะสุโขทัย และอยุธยา


ถ่ายภาพ อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์

วันที่ 27 – 3 - 52

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

วัดศรีสุริยวงศ์


วัดศรีสุริยวงศ์ ตั้งอยู่ในเขตตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สร้างขึ้นด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวในปี พ.ศ.๒๔๑๕ เพื่อเป็นวัดประจำตระกูลบุนนาค เมื่อแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ได้ถวายให้เป็นพระอารามหลวง พร้อมกับขอพระราชทานนามวัดและวิสูงคามสีมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้พระราชทานนามว่า “วัดพระศรีสุริยวงศาราม” ปัจจุบันนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดศรีสุริยวงศ์” สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัด คือ พระอุโบสถมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมผสานกับศิลปะตะวันตกแบบกอธิค (Gothic) หน้าบันปูนปั้นรูปตราสุริยะรองรับด้วยรูปช้างสามเศียรและขนาบข้างด้วยฉัตรเจ็ดชั้น ชายคาปีกนกรองรับด้วยเสากลมแบบคอรินเธียน ระหว่างเสาแต่ละต้นเชื่อมต่อด้วยรูปโค้งครึ่งวงกลมแบบอาร์คโค้ง (arch) ซุ้มประตูเป็นรูปหน้าจั่วประดับลวดลายนกยูงและพระอาทิตย์ ซุ้มหน้าต่างเป็นรูปหน้าจั่วประดับลวดลายรูปดาวเปล่งรัศมี และเพดานภายในประดับลวดลายปูนปั้นทาสีแบบลายเทศ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ซุ้มประตูวัด ลักษณะเป็นซุ้มประตูทรงโค้งตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นและเสากลมด้านละ ๓ เสา ด้านบนมีประติมากรรมลอยตัวรูปเทวดาเด็กมีปีก ตรงกลางซุ้มมีอักษรระบุชื่อ “ วัดศรีสุริยวงศ์ ” มีลวดลายปูนปั้นประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ประตูนี้สร้างแทนของเดิมที่หักพังไปเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนวัดศรีสุริยวงศ์ เป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๔


ถ่ายภาพ อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์

วันที่ 25 – 3 - 52

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

วัดไผ่ล้อม


วัดไผ่ล้อม ตั้งอยู่ที่ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สาเหตุที่เรียกว่าวัดไผ่ล้อม เนื่องจากบริเวณวัด มีต้นไผ่ศรีสุข ขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้นไผ่ศรีสุขนี้ชาวบ้านนิยมนำไปสานตะกร้า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และจากคำบอกเล่าของพระครูใบฎีกา เลอพงษ์ อุตฺตมธมฺโม เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม กล่าวว่าแต่ก่อนบริเวณวัดไผ่ล้อมเคยเป็นศูนย์รวมของการจราจรทางน้ำ มีศาลาริมน้ำแบบสามมุข ซึ่งเคยเป็นท่าเรือเก่า และเหลือเพียงแห่งเดียวในจังหวัดราชบุรี ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระพุทธธรรมมงคล สร้างขึ้นในปี 2550 มีความสูง 8 เมตร ความยาว 5.50 เมตร ทางวัดจะมีการสวดมนต์ที่หน้าพระพุทธรูป และจัดกิจกรรมพิเศษทางพระพุทธศาสนา ให้กับชาวบ้าน ในเวลา 19.00 นาฬิกา ทุกวันพระ



ถ่ายภาพ ภัทรพงศ์
ตัดต่อ อ้อยกานต์ / คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์

วันที่ 23 – 3 - 52

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2552

โบราณสถานบ้านคูบัว


โบราณสถานบ้านคูบัว ตั้งอยู่ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในโบราณสถานทั้งหมดของเมืองโบราณคูบัว เป็นอาคารพุทธศาสนสถาน เนื่องในลัทธิมหายานที่สำคัญแห่งหนึ่ง กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2537 จากการขุดแต่งพบเฉพาะส่วนฐาน ขนาดความกว้าง 22.20 เมตร ความยาว 43.50 เมตร และสูง 5.5 เมตร จากร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นฐานของพระวิหาร เนื่องจากมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดขึ้นไปสู่ลานประทักษิณ ชั้นบนทางด้านทิศตะวันออก ฐานประดับด้วยซุ้ม และเสาอิงที่แต่เดิมเคยมีรูปพระโพธิสัตว์ ทำด้วยรูปปั้นประดับตกแต่งลักษณะคล้ายคลึงกับฐานของโบราณสถานคลังใน กลางเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สร้างขึ้นเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11 - 13
และจากคำบอกเล่าของพระภิกษุภายในวัดโขลงสุวรรณคีรีกล่าวว่า โบราณสถานบ้านคูบัว ในอดีตเคยเป็นกรุสมบัติของปู่โสม ที่คอยดูแลรักษาโบราณสถานที่แห่งนี้ จนเป็นที่กล่าวขานกันมาว่า ปู่โสมเฝ้าทรัพย์


ถ่ายภาพ อ้อยกานต์ / คมปิยะ
ตัดต่อ อ้อยกานต์
บทโทรทัศน์ คมปิยะ

วันที่ 20 – 3 - 52

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2552

เจดีย์หักเจติยาราม


เจดีย์หักเจติยาราม อยู่ในเขตตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ยอดเจดีย์องค์นี้หักทลายลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เจดีย์หักเป็นศาสนสถานก่ออิฐไม่สอปูน สมัยกรุงศรีอยุธยากำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 19 มีรูปแบบเป็นเจดีย์ระฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ทรวดทรงสูงเพรียว เป็นเจดีย์รุ่นเดียวกันนี้ ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ในจังหวัดอยุธยา ลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และเพชรบุรี รวมทั้งเจดีย์ที่เรียกว่าแบบอโยธยา ในบริเวณประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1893 จากการขุดแต่ง และบูรณะ ได้พบร่องรอยของวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก และพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสีแดงจำนวนมาก เป็นพุทธศิลปะแบบที่นิยมสร้างในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา


ถ่ายภาพ อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ / อ้อยกานต์
บทโทรทัศน์ คมปิยะ

วันที่ 18 – 3 - 52

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552

ถ้ำฤาษีเขางู


ถ้ำฤาษีเขางู ตั้งอยู่ในเขต ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อยู่บริเวณเชิงเขา ในสวนสาธารณะเขางู ห่างจากตัวเมืองราชบุรีไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 6 กิโลเมตร ลักษณะเป็นถ้ำหรือศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา ภายในถ้ำพบพระพุทธรูปจำหลักติดผนังถ้ำ เป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท ปางแสดงธรรมเทศนา ตามแบบพุทธศิลป์สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-13 ) รู้จักกันทั่วไปว่า พระพุทธฉายถ้ำฤาษีเขางู ลักษณะพระพักตร์แบน พระขนงเป็นเส้นนูนโค้งต่อกันเป็นรูปปีกกา พระเนตรโปน พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาใหญ่มีรัศมีเป็นรูปดอกบัวตูม ระหว่างข้อพระบาทมีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต อ่านว่า ปุญกรรมชระศรีสมาธิคุปตะ แปลว่า พระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ นับเป็นร่องรอยศิลปะสมัยทวารวดีที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปหินทรายศิลปะสมัยอยุทธยาอีกหลายองค์



ถ่ายภาพ ธนชาติ
ตัดต่อ อ้อยกานต์
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 16 – 3 - 52

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2552

ถ้ำระฆัง


ถ้ำระฆัง ตั้งอยู่ภายในบริเวณสนามกอล์ฟ ค่ายบูรฉัตร ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นถ้ำหินปูน ตั้งอยู่บนเขาพญาปราบที่อยู่ในเทือกเขางู เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสยัมภู และที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อพญาปราบ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 ในสมัย พลตรี สมศักดิ์ ชุติมันต์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.พล.ช. ภายในถ้ำมีหินย้อยเป็นรูประฆัง จึงได้ชื่อว่าถ้ำระฆัง ปัจจุบันมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำค้างคาว ที่ผนังถ้ำมีจารึกลายฝีพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” พร้อมกับตัวเลข ๑๑๘ สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสถ้ำนี้เมื่อ รศ. 118 (พ.ศ. 2442)



13 – 3 - 52

ถ้ำระฆัง


ถ้ำระฆัง ตั้งอยู่ภายในบริเวณสนามกอล์ฟ ค่ายบูรฉัตร ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นถ้ำหินปูน ตั้งอยู่บนเขาพญาปราบที่อยู่ในเทือกเขางู เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสยัมภู และที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อพญาปราบ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2536 ในสมัย พลตรี สมศักดิ์ ชุติมันต์ ดำรงตำแหน่ง ผบ.พล.ช. ภายในถ้ำมีหินย้อยเป็นรูประฆัง จึงได้ชื่อว่าถ้ำระฆัง ปัจจุบันมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ถ้ำค้างคาว ที่ผนังถ้ำมีจารึกลายฝีพระหัตถ์พระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” พร้อมกับตัวเลข ๑๑๘ สันนิษฐานว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสถ้ำนี้เมื่อ รศ. 118 (พ.ศ. 2442)

ภาพ/เนื้อหา ธนชาติ คมปิยะ อ้อยกานต์

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552

สวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง


สวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ตั้งอยู่เชิงเขาประทับช้าง เขตติดต่อกับสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง เป็นศูนย์เพาะเลี้ยง และขยายพันธ์สัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธ์ ส่วนหนึ่งจัดเป็นสวนสัตว์เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชมสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด มีพื้นที่โดยรอบทั้งหมด 30 ไร่ เป็นพื้นที่เฉพาะให้นักท่องเที่ยวเดินชมสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ได้ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง เป็นสัตว์ที่ชาวบ้าน หรือประชาชนบริจาคเข้ามาทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเขาประทับช้าง กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การเดินทาง รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ นั่งรถสายกรุงเทพฯ - จอมบึง มาลงที่หน้าถ้ำเขาบิน สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง เขาประทับช้างอยู่ฝั่งตรงข้ามปากทางเข้าถ้ำเขาบิน โดยสวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จะเปิดให้บริการเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 น. - 16.30 น. ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 032-211025 ต่อ 807

ภาพ-เนื้อหา คมปิยะ/อ้อยกานต์

ตัดต่อ ธนชาติ

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2552

ถ้ำเขาบิน


ถ้ำเขาบินตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองราชบุรีที่เป็นรอยต่อกับท้องที่อำเภอจอมบึง โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีไปตามถนนสายราชบุรี - จอมบึง ประมาณ 20 กิโลเมตร
ประวัติที่มาของถ้ำเขาบิน มีผู้ให้คำสันนิษฐานเป็นสองความเห็นด้วยกัน ความเห็นแรกเป็นเรื่องเล่าว่า มีพ่อค้าชาวจีนแล่นเรือสำเภาใหญ่ผ่านมา แล้วเรือเกิดชนหัวเขาด้านหนึ่งบิ่นไป ชื่อถ้ำเขาบินจึงคงเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “เขาบิ่น” ส่วนความเห็นที่สองเห็นว่า คงมาจากห้องหนึ่งภายในถ้ำมีหินย้่นไป ชื่อถ้ำเรื่องเล่าว่า มีพ่อค้าชาวจีนแล่นเรือสำเอยสีขาวหม่นยื่นออกมาเหมือนนกเขากำลังกระพือปีกจะบิน ที่ตั้งของถ้ำเขาบินอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 272 เมตร ปากถ้ำสูงจากพื้นดินประมาณ 5 เมตร เนื้อที่ภายในถ้ำมีประมาณ 5 ไร่เศษ จากปากถ้ำถึงบริเวณลึกสุดมีความยาวประมาณ 500 เมตร บริเวณภายในถ้ำสามารถแบ่งออกเป็นถ้ำหรือคูหาใหญ่ๆ ได้ทั้งหมด 8 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องได้มีการตั้งชื่อตามสภาพของหินงอกหินย้อยให้คล้องจองกันตามลำดับ โดยห้องแรกเป็นบริเวณกว้างที่นักท่องเที่ยวมารวมกัน เมื่อก้าวเข้ามาจากปากถ้ำ ซึ่งประดับด้วยหินงอกหินย้อยรูปทรงต่างๆ กันได้ตั้งชื่อว่า “โถงอาคันตุกะ” ห้องที่สองเป็นบริเวณที่มีหินงอกหินย้อยรูปทรงคล้ายริ้วของผ้าม่าน รูปกลีบมะเฟืองงดงาม จึงมีการตั้งชื่อว่า “ศิวะสถาน” ห้องที่สามเป็นบริเวณที่มีธารน้ำไหลผ่านจนทำให้หินงอกหินย้อยบริเวณนี้มีลักษณะคล้ายน้ำตก และลำธารก็ได้มีการตั้งชื่อว่า “ธารอโนดาษ” ห้องที่สี่อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำเขาบินมีลักษณะของหินงอกหินย้อยคล้ายนกกำลังบิน มีการตั้งชื่อว่า “สกุณชาติคูหา” ห้องที่ห้าหินงอกหินย้อยมีลักษณะคล้ายเวทีที่มีฉากหลังท่ามกลางบรรยากาศโอ่อ่าราวกับห้องประชุม หรือสโมสร จึงมีการตั้งชื่อว่า “เทวสภาสโมสร” ส่วนห้องที่หกที่อยู่ในบริเวณท้ายสุดของถ้ำ และมีบ่อน้ำแร่ขนาดเล็กที่น้ำไม่เคยเหือดแห้งจนชาวบ้านเชื่อว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายในมีการตั้งชื่อว่า “กินนรทัศนา” ห้องที่เจ็ดเป็นบริเวณที่มีหินงอกหินย้อยมีลักษณะคล้ายกับต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากจึงตั้งชื่อว่า “พฤกษาหิมพานต์” และห้องสุดท้ายเนื่องจากหินงอกหินย้อยมีลักษณะรูปทรงคล้ายเหล่าฤาษี งู และดอกไม้นาๆชนิด ก็ได้ตั้งชื่อว่า “อุทยานทวยเทพ” ตามลำดับ
ภาพ- ภัทรพงศ์ / สุชาติ
เนื้อหา- คมปิยะ
บรรยาย- อ้อยกานต์

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552

พระมณฑป


พระมณฑป ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ของพระปรางค์ประธาน ภายนอกกำแพงแก้ว ปัจจุบันอยู่ในเขตสังฆาวาสของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบบนฐานเขียงรองรับฐานสิงห์ ผนังรอบด้านมีซุ้มหน้าต่างทรงมณฑปด้านละ ๑ ซุ้ม เว้นด้านตะวันออก เป็นซุ้มประตูทางเข้ามีบันไดขึ้น – ลง เครื่องหลัวคาของพระมณฑปพังทลายลงหมดแล้ว ภายในพระมณฑปประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท ทำด้วยหินทรายสีแดง ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเรื่อง พุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์ และตอนผจญกองทัพพญามาร ปัจจุบันมีสภาพลบเลือนเกือบหมด เพราะไม่มีหลังคาคลุมทำให้น้ำฝนชะล้างสีจนภาพเลอะ

ภาพ ธนชาติ

เสียง อ้อยกานต์

บท คมปิยะ

06-03-51

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

พระมงคลบุรี


พระมงคลบุรี เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น พุทธลักษณะ พระพักตร์สุโขทัย พระองค์ยาว พระธาณุสั้น เป็นเอกลักษณะของพระอู่ทองยุคหลัง ขนาดหน้าตักกว้าง 8 ศอก 1 คีบ
คติของคนไทย เมื่อสร้างบ้านสร้างเมือง ก็จะสร้างพุทธสถาน เป็นวัดบ้าง เป็นศาสนสถานบ้าง เพื่อประดิษฐานพระพุทธปฎิมาสำคัญ สำหรับสักการะบูชาประจำเมือง ขณะเดียวกันก็ขออานุภาพแห่งพระปฎิมานั้นช่วยปกป้องรักษาเมืองด้วย
ยุคทวารวดี สร้างพระพุทธรูปหินเขียว ห้อยพระบาทปางเทศนา 4 องค์ ประดิษฐานไว้ 4 มุมเมือง เรียกพระรักษาเมือง (พระสี่มุมเมือง) ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่นครปฐม 2 องค์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร และพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาพระนครศรีอยุธยา แห่งละ 1 องค์
ทางภาคเหนือมีสร้างบ้าง แต่ประดิษฐานในที่เดียวกัน หันหลังชนกัน หันหน้าออก 4 ทิศ อาราธนาให้ช่วยระวังภัยที่จะมาจากทิศทั้งสี่ เช่น ที่วัดภูมินทร์ เมืองน่าน ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ สร้างสี่องค์ เช่นกัน พระราชทานไปประดิษฐานสี่มุมประเทศ ทิศเหนือประดิษฐานที่ จังหวัด ลำปาง ทิศตะวันออกประดิษฐานที่ จังหวัด สระบุรี ทิศใต้ ประดิษฐานที่จังหวัด พัทลุง ทิศตะวันตกประดิษฐานที่เขาแก่นจันทร์ จังหวัด ราชบุรี เรียก พระนิโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
พระมงคลบุรี ประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวง วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี พระอารามหลวง ซึ่งตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองชั้นใน เป็นวัดสำคัญประจำเมืองมาแต่โบราณ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ด้านหลังสร้างไว้อีกองค์หนึ่ง หันหน้าสู่ทิศตะวันตก หันหลังให้กัน ความหมาย คือ อาราธนาให้ช่วยระวังภัยพิบัติหน้าหลัง เรียก พระรักษาเมือง ตามความเชื่อของคนสมัยอยุธยา