วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

พระพุทธสายสมโภชน์


พระพุทธสายสมโภชน์ เป็นพระพุทธปฎิมากรรม ที่จำลองมาจากพระพุทธ ปฎิมาในระเบียงคตวัดมหาธาตุวรวิหาร ขนาดเท่าองค์จริง พร้อมทั้งพระโมคคัลลา และ พระสารีบุตร ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย พื้นโบสถ์ปูพื้นอย่างโบราณ คือสีดำสลับขาว พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์สมัยอยุธยาให้มีพระพุทธรูป 9 องค์ พระประธาน 1 องค์ พระบริวารอีก 8 องค์ ในปัจจุบันพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในโบสถ์มี 3 องค์ บริเวณรอบๆโบสถ์ เรียกว่า ลานประทักษิณ ที่เลียนแบบมาจากสมัยรัตนโกสินทร์


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 30 – 09 -52

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

วัดบ้านกล้วย


วัดบ้านกล้วย ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง สร้างวัดในสมัยตอนปลายอยุธยา พ.ศ. ใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ความเป็นมาของวัดบ้านกล้วย และท้องถิ่นวัด เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล แห่งแรกของตำบลโคกหม้อ ตำบลท่าราบ ตำบลหนองกลางนา วัดบ้านกล้วยแห่งนี้เป็นวัดอรัญวาสี (วัดชนบท) ซึ่งอยู่ใกล้เมือง ได้แก่ วัดโคกหม้อ วัดอรัญญิก วัดเจดีย์หัก มีวัดที่เป็นศูนย์กลาง คือวัดมหาธาตุวรวิหาร ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองตอนใต้ และตอนเหนือขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นชาวมอญ เดิมมีอาชีพทำนา และค้าขาย (ทางน้ำ) ได้แก่ กลองมอญอยู่ใต้วัด ทางเสด็จอยู่ใกล้บ้านอดีตผู้ใหญ่หนุ่ม ต่อมามีชาวจีนมาอยู่สันนิษฐานว่ามาจากซัวเถา เป็นลูกหลานจีนมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนาถสารีโภชน์ เป็นนายบ้าน คือผู้ใหญ่บ้าน ที่สืบเชื้อสายมาจาก ขุนนาถสารีโภชน์ คือ ตระกูลโภชน์พันธ์ศรีโยธิน เป็นต้น

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 18 - 9 - 52

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

วังมัจฉา


วังมัจฉา อยู่ในบริเวณพื้นที่วัดท่าโขลง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ประชาชนได้มาพักผ่อน และทำบุญ โดยภายในบริเวณวัด จะมีแพรไม้ศาลาที่ใช้สำหรับให้อาหารปลา ตั้งอยู่บริเวณริมเขื่อนแม่น้ำแม่กลอง และทุกวัน จะมีพระภิกษุ และสามเณร นำอาหารปลามาตั้งวางให้ประชาชนนำไปเลี้ยงตามจิตศรัทธา ซึ่งจากคำบอกเล่าของพระครูภัทรกิจ วิหารคุณ เจ้าอาวาสวัดท่าโขลง กล่าวว่า ปลาที่มาอยู่แถวบริเวณริมน้ำวัดนี้ และสัตว์ต่างๆ ถือว่าสัตว์เหล่านี้ได้อยู่ในเขตอภัยทาน คือ ห้ามจับ และนำไปรับประทานโดยเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของวัด และทุกวันจะมีประชาชนในพื้นที่บริเวณ และนอกจังหวัด เดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยปลาส่วนใหญ่ที่พบ และชอบขึ้นมากินอาหารของชาวบ้าน คือ ปลาตะเพียนแดง ตะเพียนขาว ตะเพียนทอง ปลาแรด ปลากราย ปลาจาระเม็ดน้ำจืด และปลายี่สก โดยปลาเหล่านี้เมื่อเห็นคนนำอาหารมาให้ก็จะขึ้นมากินใกล้ๆ ให้เห็นอย่างไม่เกรงกลัว เพราะมันคงรู้ว่า ผู้ที่มาให้อาหารกับมัน คงจะไม่มีอันตราย จึงทำให้ปลาเหล่านี้อาศัยอยู่ตามบริเวณนี้จำนวนมาก จึงได้มีการเรียกติดปากว่า “วังมัจฉา” นอกจากวังมัจฉาที่ให้อาหารปลาแล้ว ในบริเวณวัดยังมีนกแก้ว นกเขา และวัวที่ชาวบ้านไถ่ซื้อชีวิตมา เพื่อไม่ให้ถูกฆ่า โดยจะนำมาฝากเลี้ยงไว้ที่วัด เพื่อไม่ให้ใครนำมันไปทำร้ายได้อีก


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 11 – 9 – 52

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ถ้ำจีน – ถ้ำจาม


ถ้ำจีน ตั้งอยู่บนไหล่เขาสูงจากพื้นดิน 60 เมตร มีภาพพระพุทธรูปปูนปั้นประดับบนผนังสององค์ องค์ที่อยู่ด้านใดเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา องค์ด้านนอกเหลือเพียงครึ่งองค์ สันนิษฐานว่าแต่เดิมสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ต่อมาได้ถูกดัดแปลงโดยเอาปูนพอกไว้เป็นศิลปะแบบอยุธยา
ถ้ำจาม ตั้งอยู่ทางตะวันตกของถ้ำจีนสูงขึ้นไป มีภาพสลักบนผนังทุกด้านโดยเฉพาะผนังด้านทิศเหนือสลักภาพ ตอน มหาปฏิหาริย์ หรือ ยมกปาฏิหาริย์ ที่เมือง สาวัตถี ประกอบด้วยพระพุทธรูปแสดงปางต่างๆ โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางสมาธิ และปางแสดงธรรมท่ามกลางต้นมะม่วงมีผล นับเป็นที่นิยมทำกันในสมัยทวารวดี ดังปรากฏในภาพสลักหิน และพระพิมพ์ การสร้างภาพ ตอน มหาปฏิหาริย์นี้ได้รับอิทธิพลมาจาก เรื่องพุทธประวัติในอรรถกถาภาษาบาลี ลัทธิหินยาน ผนังด้านใต้ และตะวันออก เป็นรูปบุคคลปูนปั้นขี่คอซ้อนกันขึ้นไป ผนังด้านตะวันตก เป็นภาพพระพุทธรูปปางไสยาสน์ เหนือพระพุทธเป็นลวดลายปูนปั้นรูปต้นไม้ สันนิษฐานว่า เป็นต้นสาละ อาจหมายถึง เรื่องราวขณะเสด็จสู่มหาปรินิพพาน จึงนับว่าเป็นภาพพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่เก่าที่สุด เท่าที่ค้นพบในประเทศไทย

ถ่ายภาพ / เขียนบท / ตัดต่อ : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 4 – 9 – 52