วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สะดือคูบัว



สะดือคูบัว เป็นหินแกรนิตจารึก ตั้งอยู่ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี ตรงข้ามกับจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี โดยนำมาจากเหมืองหิน อำเภอบ้านตาก เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2549 ด้านที่ 1 มีอักษรธรรมล้านนา (อักษรไท-ยวน) กล่าวถึงผู้เขียนคำจารึก อักษรที่ใช้ในพุทธศักราช 2549 กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจารึก และอาณาเขตพื้นที่การปกครองของตำบลคูบัว ด้านที่ 2 กล่าวถึงประชาชนคูบัวมีภูมิปัญญาผลิตสินค้าชุมชน (OTOP) หลากหลายชนิด ร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิ สมาคม ชมรม พิพิธภัณฑ์จิปาถะฯ ความเป็นมาดั้งเดิมของพื้นที่โบราณสถานภายในเมืองโบราณคูบัว ด้านที่ 3 กล่าวถึงความเป็นมาโครตเหง้าไท-ยวน (เจ๊าเฮา) ที่เคลื่อนย้ายจากเมืองเชียงเสียน อาณาจักรล้านนาโบราณมาอยู่ที่คูบัว จังหวัดราชบุรี และด้านที่ 4 กล่าวถึงแผนที่อาณาเขตของตำบลคูบัว แผนที่จังหวัดราชบุรี และแผนที่ประเทศไทย ณ พุทธศักราช 2550 ตลอดจนรายชื่อผู้สนับสนุนบริจาคเงินซื้อหินจารึกก้อนนี้


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ตลาดริมน้ำหลักเมือง






ตลาดริมน้ำหลักเมือง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อยู่ในบริเวณวัดท้ายเมือง ติดกับริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตลาดแห่งนี้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2552 เป็นนโยบายแนวคิดของนางปาลิดา ประถมภัฏ นายกเทศมนตรีตำบลหลักเมือง ที่ต้องการให้ตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของชุมชน ในการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่ายในครัวเรือน และสามารถกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของชุมชน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และได้จัดกิจกรรม “มหกรรมอาหารปลอดภัย” ขึ้นในตลาดริมน้ำหลักเมือง เพื่อเป็นต้นแบบในการจำหน่ายอาหารปลอดภัยที่ผ่านการควบคุม ดูแล และได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของท้องถิ่น ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนชาวหลักเมือง ประชาชนสามารถเลือกซื้ออาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค ได้ในราคาถูก สะอาด และปลอดภัย นอกจากนั้น ยังเป็นการต่อยอดอาชีพในชุมชน ที่เทศบาลสนับสนุนงบประมาณในการอบรม และประการสำคัญ การจัดตลาดริมน้ำหลักเมืองนี้ เป็นการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้ทราบถึงปูชนียบุคคล ของวัดท้ายเมืองที่มีอายุยืนยาวมานับร้อยปี ซึ่งพี่น้องที่มาจับจ่ายสินค้าจะมีโอกาสได้กราบไหว้บูชา เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน ที่จะได้รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงอยู่สืบไป
โดยตลาดริมน้ำหลักเมือง จะเปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ตั้งแต่ เวลา 6.00 – 14.00 น. ผู้สนใจที่จะค้าขายสินค้าสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลหลักเมือง เบอร์โทรศัพท์ 032 – 317073 ทุกวันเวลาราชการ

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วัดดอนตะโก



วัดดอนตะโก ตั้งอยู่เลขที่ 105 ถนนแม้นรำลึก หมู่ที่ 3 ตำบลดอนตะโก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 61 ตารางวา วัดดอนตะโก ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2320 ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุเล่าสืบกันมาว่า วัดนี้เดิมตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 เส้น ของที่ตั้งวัดในปัจจุบัน เป็นที่ราบลุ่ม มีบ้านอยู่ติดกับวัดไม่มากนัก เดิมเป็นที่พักสงฆ์ ต่อมาชาวบ้านดอนตะโกตอนเหนือเห็นว่าที่ตั้งวัดเป็นที่กว้างสำหรับเลี้ยงควายของชาวบ้าน มีที่พักเกวียนของคนเดินทางอีกด้วย ประกอบกับมีประชากรอยู่มากกว่าที่เดิม จึงพร้อมใจกันย้ายวัดมาตั้งอยู่ที่คอกควาย เพื่อสะดวกแก่การทำบุญ โดยตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านว่า “วัดดอนตะโก” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2522 มีพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ วํสวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 10 เมตร ยาว 26 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 21 เมตร ยาว 44 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น กฏิสงฆ์ จำนวน 4 หลัง เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง 12 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2515 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 2 หลัง และหอระฆัง 1 หลัง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วัดพเนินพลู



วัดพเนินพลู ตั้งอยู่ที่ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 8 ไร่ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 10 แปลง เนื้อที่ 49 ไร่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2408 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2466 และเริ่มเป็นสำนักปฏิบัติธรรมเมื่อปี 2551 การบริหาร และการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระเก้า รูปที่ 2 พระครูวิมลกิติ รูปที่ 3 พระครูวิสุทธิธรรมมาภรณ์ และรูปที่ 4 พระครูภาวนาธรรมรังสี พ.ศ. 2538 – ปัจจุบัน ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะตำบลพงสวาย – บางป่า เจ้าคณะชั้นเอกวิปัสสนา ภายในวัดมีหลวงสัมฤทธิ์สิทธิโชคประทานพร พระประธานภายในศาลาปฎิบัติธรรมที่ประชาชนต่างมาบนบาน ขอพร โดยทางวัดได้จัดให้มีการบวชพราหมณ์เนกขัมมะในวันพ่อแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 3 – 6 ธันวาคม และการบวชพราหมณ์เนกขัมมะประจำปี ทุกวันที่ 3 เมษายน ของทุกปี


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โบราณสถานบ้านคูบัว


โบราณสถานบ้านคูบัว ตั้งอยู่ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในโบราณสถานทั้งหมดของเมืองโบราณคูบัว เป็นอาคารพุทธศาสนสถาน เนื่องในลัทธิมหายานที่สำคัญแห่งหนึ่ง กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งในปี พ.ศ. 2537 จากการขุดแต่งพบเฉพาะส่วนฐาน ขนาดความกว้าง 22.20 เมตร ความยาว 43.50 เมตร และสูง 5.5 เมตร จากร่องรอยหลักฐานที่ปรากฏ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นฐานของพระวิหาร เนื่องจากมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดขึ้นไปสู่ลานประทักษิณ ชั้นบนทางด้านทิศตะวันออก ฐานประดับด้วยซุ้ม และเสาอิงที่แต่เดิมเคยมีรูปพระโพธิสัตว์ ทำด้วยรูปปั้นประดับตกแต่งลักษณะคล้ายคลึงกับฐานของโบราณสถานคลังใน กลางเมืองโบราณศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่สร้างขึ้นเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี พุทธศตวรรษที่ 11 – 13 และจากคำบอกเล่าของพระภิกษุภายในวัดโขลงสุวรรณคีรีกล่าวว่า โบราณสถานบ้านคูบัว ในอดีตเคยเป็นกรุสมบัติของปู่โสม ที่คอยดูแลรักษาโบราณสถานที่แห่งนี้ จนเป็นที่กล่าวขานกันมาว่า ปู่โสมเฝ้าทรัพย์

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว



จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ตั้งอยู่หมู่ 6 ตำบลคูบัว บริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านคูบัว ด้วยความริเริ่มของชุมชนหลายองค์กรในพื้นที่ อาทิ วัดโขลงสุวรรณคีรี มูลนิธิพัฒนาประชากรตำบลคูบัว สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดแคทราย ศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกราชบุรี ชมรมชาวไท-ยวน ราชบุรี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี สมาคมต่างๆได้ร่วมกันก่อสร้าง ตัวอาคารแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2546 จากนั้นจึงมอบหมายให้ ดร.อุดม สมพร มูลนิธิพัฒนาประชากรตำบลคูบัว เป็นประธานกรรมการจัดตกแต่งและจัดแสดงภายในรวมทั้งเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ด้วย ภายในอาคารแบ่งออกเป็น 2 ชั้น จัดแบ่งออกเป็นห้องๆ ชั้นล่างจัดแสดงศิลปวัตถุโบราณสมัยทวารวดี หุ่นขี้ผึ้งจำลองการริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์ ห้องแสดงวิถีชีวิตของชุมชนไท- ยวน ที่ได้เคลื่อนย้ายจากเมืองเชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. 2347 มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองราชบุรี อาทิ เครื่องมืออุปกรณ์การประกอบอาชีพทำนา การเกษตร ชั้นบนจัดแสดงภูมิปัญญาการทอผ้าจกไท-ยวนเชียงแสน ห้องแสดงผ้าจกไท - ยวน เชียงแสนดั้งเดิมที่มีอายุกว่า 200 ปี จนถึงปัจจุบันและผ้าจกของลูกหลานไท-ยวน และห้องแสดงการแต่งกายของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในจังหวัดราชบุรี อาทิ ยวน โซ่ง ลาวเวียง มอญ กระเหรี่ยง จีน ไทยพื้นถิ่น เป็นต้น นอกจากนี้ภายนอกอาคารด้านขวามือยังเป็นอาคารเอนกประสงค์ที่ใช้เป็นที่รวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่ ใช้เป็นศูนย์ฝึกและศูนย์สาธิตการทอผ้าจก และทางด้านหน้าของอาคารมีเรือนไท-ยวนโบราณให้ศึกษาอีกด้วย โดยจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว จะเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น.(ควรติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม) ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อุดม สมพร เบอร์โทรศัพท์ 081 - 7631989

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา