วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ถ้ำเขาบิน



ถ้ำเขาบิน ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองราชบุรีที่เป็นรอยต่อกับท้องที่อำเภอจอมบึง โดยอยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีไปตามถนนสายราชบุรี - จอมบึง ประมาณ 20 กิโลเมตร ประวัติที่มาของถ้ำเขาบิน มีผู้ให้คำสันนิษฐานเป็นสองความเห็นด้วยกัน ความเห็นแรกเป็นเรื่องเล่าว่า มีพ่อค้าชาวจีนแล่นเรือสำเภาใหญ่ผ่านมา แล้วเรือเกิดชนหัวเขาด้านหนึ่งบิ่นไป ชื่อถ้ำเขาบินจึงคงเรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “เขาบิ่น” ส่วนความเห็นที่สองเห็นว่า คงมาจากห้องหนึ่งภายในถ้ำมีหินย้อยที่มีพ่อค้าชาวจีนแล่นเรือสำเภาสีขาวหม่นยื่นออกมาเหมือนนกเขากำลังกระพือปีกจะบิน
ที่ตั้งของถ้ำเขาบินอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 272 เมตร ปากถ้ำสูงจากพื้นดินประมาณ 5 เมตร เนื้อที่ภายในถ้ำมีประมาณ 5 ไร่เศษ จากปากถ้ำถึงบริเวณลึกสุดมีความยาวประมาณ 500 เมตร บริเวณภายในถ้ำสามารถแบ่งออกเป็นถ้ำหรือคูหาใหญ่ๆ ได้ทั้งหมด 8 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องได้มีการตั้งชื่อตามสภาพของหินงอกหินย้อยให้คล้องจองกันตามลำดับ โดยห้องแรกเป็นบริเวณกว้างที่นักท่องเที่ยวมารวมกัน เมื่อก้าวเข้ามาจากปากถ้ำ ซึ่งประดับด้วยหินงอกหินย้อยรูปทรงต่างๆ กันได้ตั้งชื่อว่า “โถงอาคันตุกะ” ห้องที่สองเป็นบริเวณที่มีหินงอกหินย้อยรูปทรงคล้ายริ้วของผ้าม่าน รูปกลีบมะเฟืองงดงาม จึงมีการตั้งชื่อว่า “ศิวะสถาน” ห้องที่สามเป็นบริเวณที่มีธารน้ำไหลผ่านจนทำให้หินงอกหินย้อยบริเวณนี้มีลักษณะคล้ายน้ำตก และลำธารก็ได้มีการตั้งชื่อว่า “ธารอโนดาษ” ห้องที่สี่อันเป็นที่มาของชื่อถ้ำเขาบินมีลักษณะของหินงอกหินย้อยคล้ายนกกำลังบิน มีการตั้งชื่อว่า “สกุณชาติคูหา” ห้องที่ห้าหินงอกหินย้อยมีลักษณะคล้ายเวทีที่มีฉากหลังท่ามกลางบรรยากาศโอ่อ่าราวกับห้องประชุม หรือสโมสร จึงมีการตั้งชื่อว่า “เทวสภาสโมสร” ส่วนห้องที่หกที่อยู่ในบริเวณท้ายสุดของถ้ำ และมีบ่อน้ำแร่ขนาดเล็กที่น้ำไม่เคยเหือดแห้งจนชาวบ้านเชื่อว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายในมีการตั้งชื่อว่า “กินนรทัศนา” ห้องที่เจ็ดเป็นบริเวณที่มีหินงอกหินย้อยมีลักษณะคล้ายกับต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมากจึงตั้งชื่อว่า “พฤกษาหิมพานต์” และห้องสุดท้ายเนื่องจากหินงอกหินย้อยมีลักษณะรูปทรงคล้ายเหล่าฤาษี งู และดอกไม้นาๆชนิด ก็ได้ตั้งชื่อว่า “อุทยานทวยเทพ” ตามลำดับ
ถ้ำเขาบิน เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00 – 17.00 น. เสาร์ – อาทิตย์ ตั้งแต่ 8.30 – 17.00 น. ผู้สนในสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 032 – 329226 การเดินทาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปตามทางหลวงหมายเลข 3087 (สายราชบุรี – จอมบึง – สวนผึ้ง) ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 20 มีทางแยกซ้ายมือ เข้าไปประมาณ 1.6 กิโลเมตร

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันอังคารที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เจดีย์หักเจติยาราม



เจดีย์หักเจติยาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ยอดเจดีย์องค์นี้หักทลายลงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เจดีย์หักเป็นศาสนสถานก่ออิฐไม่สอปูน สมัยกรุงศรีอยุธยา กำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 19 มีรูปแบบเป็นเจดีย์ระฆังคว่ำ ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ทรวดทรงสูงเพรียว เป็นเจดีย์รุ่นเดียวกันนี้ ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ในจังหวัดอยุธยา ลพบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และเพชรบุรี รวมทั้งเจดีย์ที่เรียกว่าแบบอโยธยา ในบริเวณประวัติศาสตร์อยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1893 จากการขุดแต่ง และบูรณะ ได้พบร่องรอยของวิหารที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตก และพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสีแดงจำนวนมาก เป็นพุทธศิลปะแบบที่นิยมสร้างในสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สวนรุกขชาติถ้ำจอมพล





สวนรุกขชาติถ้ำจอมพล จัดตั้งและดำเนินงานโดยสำนักพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ ตั้งอยู่ที่ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีไปทางทิศตะวันตก ตามถนนสายราชบุรี – จอมบึง ประมาณ 30 กิโลเมตร สภาพภายในสวนรุกขชาติถ้ำจอมพล ประกอบด้วนพื้นที่เขาจอมพล และพื้นที่ราบรวมกันประมาณ 178 ไร่ เป็นพื้นที่ราบประมาณ 42 ไร่ มีสภาพสังคมที่เกื้อกูลกันทั้งพรรณไม้และสัตว์ป่า สภาพป่าจัดอยู่ในประเภทป่าเบญจพรรณแล้ง มีพรรณไม้ที่สำคัญ เช่น ประดู่ สะเดา ตะแบก อินทนิล ฯลฯ และพันธุ์ไม้ที่ปลูกซ่อมแซมอีกหลายชนิด
โดยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2497 ฯพฯ จอมพล ผิน ชุณหะวัณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร (ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้มาวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนของวิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง และได้เข้าชมถ้ำจอมพล เมื่อได้เห็นความสวยงามของหินงอก หินย้อยภายในถ้ำ และความร่มรื่นของป่าไม้บริเวณหน้าถ้ำแล้ว จึงได้ดำริว่าน่าจะรีบปรับปรุงสงวนเอาไว้ เพื่อจัดเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป และเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่เสด็จประพาสของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 จึงได้มอบให้กรมป่าไม้ ดำเนินการปรับปรุงเป็นสวนรุกขชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นต้นมา

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2552

วัดบ้านโป่ง



วัดบ้านโป่ง ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนวิจิตรธรรมรส หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 48 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 52 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วนคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูชนียวัตถุ มีเจดีย์ 5 องค์ อุโบสถ ศาลาการเปรียญ มีพระพุทธเกษี และพระพุทธมงคลบพิตร ปัจจุบันมีพระพิศาลพัฒนโสภณ เป็นเจ้าอาวาส
วัดบ้านโป่ง ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2345 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544 เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ซึ่งมีอายุนานเกือบ 200 ปี ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลอง ไม่ห่างไกลจากสถานีรถไฟ เนื้อที่รอบๆ บริเวณวัด 500 กว่าไร่ มีประวัติความเป็นมาตามที่ผู้เฒ่าได้เล่าสืบต่อๆกันมา ว่าเดิมทีได้มีพระภิกษุลาวรูปหนึ่ง ได้มาสร้างกระท่อมมุงด้วยแฝก และได้จัดตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น หากแต่ที่วัดบ้านโป่งนั้นเต็มไปด้วยป่าไม้ใบหนา เป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชนิด เต็มไปด้วยภัยอันตราย จึงไม่มีผู้ใดมาอาศัยอยู่ ต่อมาจึงเสื่อมโทรมลง และไม่มีผู้ใดทราบว่าพระภิกษุลาวรูปนั้นไปไหนและที่ใด ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 23 ได้มีพระภิกษุชาวรามัญรูปหนึ่ง ชื่อว่า “พระภิกษุด่าง” ได้สร้างเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งมี 5 ยอด มีผู้คนชาวรามัญและชาวบ้านมาทำการสักการบูชาอยู่เสมอ จึงนับได้ว่าหลวงพ่อด่าง เป็นผู้ให้กำเนิดวัดบ้านโป่ง และเจดีย์ 5 ยอด อันเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของวัดบ้านโป่ง

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ถ้ำจอมพล



ถ้ำจอมพล ตั้งอยู่ที่ตำบลจอมบึง จังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากถ้ำเขาบินไป 11 กิโลเมตร ในบริเวณสวนรุกขชาติ ทางเข้าถ้ำจอมพลอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เดิมมีชื่อว่า “ถ้ำมุจลินทร์” ถ้ำนี้อยู่ในเขาชื่อ เขากลางเมือง มีความสูง 191 เมตร เมื่อปี พ.ศ. 2483 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสถ้ำนี้ ทรงพอพระทัยความงามของหินงอกหินย้อย โดยเฉพาะหินย้อยผาวิจิตร ที่เหมือนริ้วไหมอินทรธนูบนบ่าของจอมพล จึงทรงพระราชทานนามถ้ำใหม่ว่า “ถ้ำจอมพล” นอกจากหินงอกหินย้อยที่สวยงามแล้ว แต่ละสถานที่ยังมีป้ายบอกชื่อไว้อย่างชัดเจน เช่น สร้อยระย้า ผาวิจิตร แส้จามรี บรมอาสน์ ธาตุเนรมิต มัสยาสถิต ประสิทธิ์เทวา และเกศาสยาม ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งมีงานฉลองเป็นประจำทุกปีในหน้าแล้ง เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.30 – 16.30 น. อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา