วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ


พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ เป็นพระพุทธรูปปางตรั้สรู้ ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว โลหะที่ใช้หล่อประกอบด้วย ทองเหลือง 2 ส่วน ทองแดง 1 ส่วน ทองขาว 1 ส่วน พระพุทธรูปนี้มีเพียง 4 องค์ทั่วประเทศ ที่กรมการรักษาดินแดนสร้างขึ้น โดยพระราชดำหริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อด้วยพระองค์เอง ณ กรมการรักษาดินแดน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2511 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เมื่อการหล่อสำเร็จแล้ว ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก โดยพระผู้ทรงคุณวุฒิ พระองค์ได้ทรงพระราชทานนามพระพุทธรูปทั้ง 4 ว่า พระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ และได้พระราชทานประดิษฐานไว้ประจำทิศทั้ง 4
ในวันที่ 27 ธันวาคม 2511 ขบวนของหน่วยราชการ พ่อค้า ประชาชน ประมาณ 16 ขบวน ซึ่งรอรับอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ก็เคลื่อนขบวนพร้อมกันถึงยังจังหวัดราชบุรี นำไปประดิษฐานชั่วคราวอยู่ หน้าศาลจังหวัดราชบุรี ประกอบพิธีต้อนรับ และสมโภช เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เมื่อจังหวัดได้สร้างศาลาจัตุรมุข และทางขึ้นเขาเสร็จแล้ว ได้อันเชิญไปประดิษฐาน เป็นที่สักการะขอพรของพุทธศาสนิกชนทั่วไป


ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์

ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 29 - 5 - 52


วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระสังกัจจายน์


พระสังกัจจายน์ ตั้งอยู่ที่วัดหนองหอย ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ในพุทธประวัติพระสังกัจจายน์เป็นพระเถระ ที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นเลิศ ในการแสดงธรรมที่ย่อ และพิสดาร โดยมีความเชื่อว่า การบูชาพระสังกัจจายน์นั้น เป็นการบูชาเพื่อให้เกิดสติปัญญา ในทางที่เป็นสัมมาทิฐิ และเป็นมหาลาภให้ร่ำรวย ด้วยทรัพย์สินเงินทอง ร่ำรวยความสุข





ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 27 - 5 - 52

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โคกนายใหญ่


โคกนายใหญ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 10.30 เมตร สูง 3.15 เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยม ฐานชั้นที่สองเป็นฐานขององค์เจดีย์ ลักษณะเป็นฐานบัวโค้งถัดขึ้นไปเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซ้อนกันเป็นสองชั้นไม่ปรากฏร่องรอย การประดับปูนปั้นภายในซุ้ม ส่วนยอดของเจดีย์ชำรุดมาก ไม่สามารถบอกรูปทรงได้แน่นอน


ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 25 - 5 - 52

วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระโพธิสัตว์กวนอิมยืนประทานพร




พระโพธิสัตว์กวนอิมยืนประทานพร ตั้งอยู่ที่วัดหนองหอย ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สร้างขึ้นโดยพระพิศิษฎ์ พัฒนพิธาน (ดาวเรือง อาจารคุโณ) เจ้าอาวาสวัดหนองหอยรูปปัจจุบัน ร่วมกับญาติโยมผู้มีจิตศรัทธา ทำการเททองหล่อองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางยืนประทานพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 หัตย์ซ้ายทรงแจกันมณี อันบรรจุน้ำทิพย์แห่งความกรุณา ในหัตย์ขวาทรงกิ่งสน สูงประมาณ 3.59 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 2 ตัน ยืนประทับบนดอกบัว อันเชิญประดิษฐานในวิหาร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525


ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 22 - 5 - 52

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โบราณสถานวัดคูบัว


โบราณสถานวัดคูบัว ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตรงข้ามกับสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี โบราณสถานวัดคูบัวเดิมเป็นสถานร้าง กรมศิลปากรขุดแต่งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 จากหลักฐานทางโบราณคดี สันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้เป็นโบราณสถานในสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 – 15 ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ประกอบด้วยฐานชั้นที่หนึ่ง ชั้นล่างเป็นฐานก่ออิฐรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างประมาณ 20.00 เมตร ยาวประมาณ 20.00 เมตร ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ไม่สอปูน รองรับฐานบัวครึ่งวงกลม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน เจาะเป็นช่องขนาเท่าๆกันโดยรอบ ส่วนบนเป็นฐานเรียงรองรับฐานชั้นที่สอง พบร่องรอยของการฉาบปูนในบางส่วน ฐานชั้นที่สอง เป็นฐานสี่เหลี่ยมหยัก ที่มุมทั้งสี่ทำเป็นรูปฐานสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก และในแนวกึ่งกลางทั้งสี่ด้าน ทำเป็นย่อเก็จแทรกระหว่างฐานสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ส่วนฐานชั้นบนไม่ปรากฏรูปแบบที่แน่ชัด

ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 20 - 5 - 52

วันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี


ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองราชบุรี ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพักทหารช่างราชบุรี ค่ายภาณุรังสี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 600 เมตร ฝั่งตรงข้ามกับตัวเมืองราชบุรี
ซึ่งนับแต่โบราณกาล เมื่อใดที่มีการสร้างเมืองใหม่ ก็จะมีศาลหลักเมืองเป็นที่สักการะของชาวเมืองนั้น ศาลหลักเมืองสร้างขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โดยมีหลักฐานในสมุดราชบุรี พุทธศักราช 2468 กล่าวไว้ว่า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองเดิมที่เคยตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ฝั่งขวาลำน้ำแม่กลอง ไปตั้งทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำ คือทางทิศตะวันออก เยื้องกันข้ามจากเมืองเดิม เพื่อให้ปลอดภัยจากการรุกราน และป้องกันข้าศึกได้โดยง่าย



ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์

ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 18 - 5 - 52

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วัดพญาไม้


วัดพญาไม้ ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 2 ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ด้านทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำแม่กลอง ด้านทิศตะวันออกติดกับถนนชลประทาน วัดพญาไม้ ได้รับการจัดขึ้นทะเบียนให้เป็นวัดในกรมศาสนา เมื่อพุทธศักราช 2423 เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏชัด แต่มีการบอกเล่าว่า เมื่อรัชสมัย รัชกาลที่ 5 มีชาวบ้านท่านหนึ่งไม่ปรากฏนาม ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศเหนือของวัด ได้เข้าไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระเจ้าแผ่นดิน จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าพระยา พระยาท่านนี้รู้สึกทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงคิดจะสร้างถาวรวัตถุ เพื่อเป็นการสนองพระเดชพระคุณ และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว จึงได้กลับมาสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ในภูมิลำเนาเดิมที่ตนเคยอาศัยอยู่ ชาวบ้านจึงพากันเรียกวัดที่สร้างขึ้นใหม่ว่า “วัดพระยาใหม่” กาลเวลาล่วงเลยไปเป็นเวลานาน คำเรียกขานก็เพี้ยนเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย คำว่า วัดพระยาใหม่ ก็เปลี่ยนมาเป็น วัดพญาไม้ และหมู่บ้านในระแวกนั้น ก็พลอยถูกเรียกว่า บ้านพญาไม้ ไปด้วยจนถึงปัจจุบัน



ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 15 - 5 - 52

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สวนรุกขชาติถ้ำจอมพล




สวนรุกขชาติถ้ำจอมพลตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ หมู่บ้านจอมบึง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรีประมาณ 30 กม. สวนรุกขชาติถ้ำจอมพล ได้เริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นต้นมา โดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้มอบให้กรมป่าไม้สงวนเนื้อที่ป่าบริเวณถ้ำจอมพล พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นพรรณไม้ป่าเบญจพรรณที่เป็นหินปูน เช่น ประดู่ มะค่าโมง สัก แดง เป็นต้น ปัจจุบันสวนรุกขชาติถ้ำจอมพล ได้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป


ถ่ายภาพ อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 13 - 5 - 52

วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เจดีย์เก่า


เจดีย์เก่า ตั้งอยู่ที่วัดเขาเหลือ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อยู่ด้านหลังของวิหารแกลบ สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างขึ้นในสมัยเดียวกับ วิหารแกลบ ลักษณะเป็น เจดีย์ย่อมุมสิบสองรุ่นเก่าแก่ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจดีย์แบบหนึ่งของสมัยทวารวดีตอนปลาย เจดีย์แบบนี้นิยมสืบต่อมาในอยุธยาตอนต้น และเชื่อว่าคงจะสืบต่อมาจากสมัยอโยธยาอีกต่อหนึ่ง

ถ่ายภาพ คมปิยะ
ตัดต่อ อ้อยกานต์
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 11 - 5 - 52

วันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

โต๊ะหมู่บูชา


ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี ได้มีการจัดนิทรรศการโต๊ะหมู่บูชา ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี 2552 จากจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 เมื่อพ.ศ. 2391 ครั้งเมื่อมีงานฉลองวัดพระเชตุพลวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ก็เริ่มมีการจัดโต๊ะหมู่บูชาเป็นครั้งแรก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้มีการประกวดจัดโต๊ะหมู่บูชาแบบต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถึง 100 โต๊ะ และรูปแบบการจัดดังกล่าวได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการส่งเสริมพระพุทธศาสนา และวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง มีการจัดโต๊ะหมู่บูชาขึ้นเป็นพิเศษในสถานที่ราชการ องค์การ และสโมสรทั่วไป โดยโต๊ะหมู่บูชาที่นิยมจัดมี โต๊ะหมู่ 4 แบบธรรมดา โต๊ะหมู่ 4 แบบโต๊ะซัด โต๊ะหมู่ 5 โต๊ะหมู่ 7 และโต๊ะหมู่ 9


ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์

วันที่ 8 – 5 - 52

วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิหารย์แกลบ


วิหารย์แกลบ ตั้งอยู่ที่วัดเขาเหลือ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรีวิหารย์แกลบสร้างขึ้นเมื่อสมัยอยุธยา มีอายุประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ สร้างด้วยอิฐฉาบปูน ทั้งหลัง ซึ่งเหลือพียง หลังเดียวในภาคกลาง ที่ชื่อว่าวิหารแกลบเพราะ เปรียบเหมือน ม้าแกลบตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง ภายในวิหารย์แกลบมีพระประจำ ๑๔ องค์ มีหลวงพ่อมงคลสรรเพชร (หลวงพ่อเหลือ) เป็นพระประธาน


ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์

วันที่ 6 – 5 - 52

วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เขามอ


เขามอ เป็นโครงการสวนสาธารณเฉลิมพระเกียรติฯ ที่สร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (รัชกาลที่ 9 ) เป็นเนินเขาลูกเล็กๆ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาวัง เป็นเขาประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับการเสด็จประพาสเมืองราชบุรี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2420 เพื่อประทับ ณ พระราชวังบนเขาสัตนารถ ในการเสด็จฯคราวนั้น “เขามอ” มีตำหนักที่ประทับของพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ สมเด็จกรมพระสุดารัตนราชประยูร (พระองค์เจ้าหญิงละม่อม) ทรงเป็นพระมหัยยิกา (ยาย) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นผู้เลี้ยงดูพระบรมราชชนนี และพระองค์ท่านมาแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยนายวงศักดิ์ สวัสดิ์พานิชย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีปี 2550 เป็นผู้ริเริ่มโครงการสวน สาธารณเฉลิมพระเกียรติฯ


ถ่ายภาพ : คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ : คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 4 – 5 - 52