วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พระวิหาร


พระวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี แต่เดิมพระวิหารหลังนี้เป็นโบสถ์หลังแรกของวัดเทพอาวาส ซึ่งเป็นวัดที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 200 ปีมาก่อนที่พระยาเทพอรชุน จะมาสร้าง เดิมมิใช่เรียกว่าวัดเทพอาวาส ชาวบ้านมักเรียกกันหลายชื่อ เช่นวัดดงขี้เหล็ก วัดนทีใต้ วัดบ้านไร่ โดยได้สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างพระวิหารนี้ขึ้นในต้นรัชกาลที่ 4 เพราะมีหลักฐาน คือ เสาพระวิหารที่เป็นไม้แดง ที่ผู้สร้างคัดเอาแต่แก่นล้วนๆ ซึ่งเสาไม้จะมีการเขียนลายไทยไว้ที่ปลายเสาบ้าง และบางทีก็เขียนตลอดลำต้น โดยเสาพระวิหารเป็นไม้แดงที่มีอายุกว่า 200 ปี เป็นไม้ที่มีแก่นทนทาน คนโบราณนิยมใช้ทำเครื่องเรือน เพราะปลวกไม่กิน และไม่ผุง่าย

ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 22 - 6 - 52

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วัดเทพอาวาส


วัดเทพอาวาส ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีเนื้อที่เฉพาะที่ตั้งวัดประมาณ 20 ไร่เศษ ในอดีตวัดเทพอาวาสมีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่นวัดดงขี้เหล็ก วัดบ้านไร่ วัดนทีใต้ สำหรับผู้ที่สร้างวัดเทพอาวาสเป็นท่านแรกนั้นทางวัดไม่สามารถที่จะสืบค้นข้อมูลได้ รู้แต่เพียงหลักฐานตามทะเบียนวัดที่แจ้งว่า วัดเทพอาวาสขออนุญาตตั้งวัดในปี พ.ศ. 2420 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ 5 แต่เมื่อดูจากหลักฐานต่างๆ ที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น พระวิหาร อุโบสถหลังเก่า ทำให้ทราบว่าวัดเทพอาวาส น่าจะสร้างมาก่อนนั้น เพราะศิลปกรรมสถาปัตยกรรมต่างๆ เป็นแบบสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่สามารถใช้ยืนยันได้



ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 19 - 6 - 52

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วิหารพระพุทธชัยมงคล


วิหารพระพุทธชัยมงคล ตั้งอยู่ที่วัดท้ายเมือง ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี วิหารพระพุทธชัยมงคล เป็นวิหารเก่า เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ คือ พระพุทธชัยมงคล เป็นพระพุทธรูปศิลาแลง ปางมารวิชัย มีอายุ 400 กว่าปี นอกจากนี้ภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ คือ หลวงพ่อดำ หลวงพ่อรัตนะ และหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ซึ่งเดิมเข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แต่เมื่อคราวที่ถูกมิจฉาชีพขโมย เกิดหล่นทำให้เอาไปไม่ได้ ปูนที่ฉาบองค์พระไว้จึงกะเทาะออก ทำให้เห็นเป็นเนื้อสัมฤทธิ์

ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 17 - 6- 52

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วัดท้ายเมือง


วัดท้ายเมือง ตั้งอยู่ที่ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2423 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2481 วัดท้ายเมือง มีเนื้อที่ตั้งวัดทั้งหมด 21 ไร่ 2 งาน 3 วา ที่มาของชื่อวัดสันนิษฐานว่า ในอดีตมีการย้ายเมืองราชบุรีจากตำบลคูบัว มาอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง และมีการสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ เมื่อปีพุทธศักราช 2463 โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซึ่งฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำแม่กลองทิศที่ศาลหลักเมืองหันไปนั้น เมื่อมองไปจะเห็นสะพานรถไฟ และเห็นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดมหาธาตุวรวิหารในปัจจุบัน จึงทำให้ที่ตั้งของวัดอยู่ในทิศตะวันตก คือด้านหลังศาลหลักเมือง ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดท้ายเมือง” และเปรียบวัดพระศรีรัตนมหาธาตุว่า เป็นวัดหน้าเมือง


ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 15 - 6 - 52

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม


วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี การเกิดเกาะกลางแม่น้ำ เกิดจากขี้ระบบทับถมกันมานานจนกลายเป็นเกาะกลางแม่น้ำ จนกระทั่งมีพวกมอญอพยพจากพม่ามาอาศัยอยู่ที่โพธาราม มาสร้างเป็นเจดีย์น้อยๆ เป็นที่เคารพ ต่อมาพระแสนท้องฟ้า ได้มายึดครองเป็นที่ทำสวน และเพาะปลูกต้นไม้ผลขึ้น ท่านอาจารย์กลับ ท่านได้เคยรับราชการในวังมาก่อน ครั้งท่านเกษียนแล้วก็กลับมาอยู่บ้านเดิม คือบ้านไร่ท้ายเกาะ และได้อุปสมบทเป็นพระที่วัดท้ายเมือง ท่านขอซื้อเกาะจากพระแสนท้องฟ้า พระแสนท้องฟ้าท่านได้ถวายให้ท่านอาจารย์กลับ ท่านย้ายจากวัดท้ายเมือง มาสร้างวัดขึ้นได้นามว่า “วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม” นามวัดนั้น คนเก่าๆ เขาบอกว่าคนในวัดซึ่งเป็นคนรู้จักกับท่านได้ตั้งใจ ท่านอาจารย์กลับท่านได้ดำเนินการสร้างเรื่อยๆ มาเมื่อ พ.ศ. 2425 ก็สร้างกุฎิศาลาและเจดีย์ ที่มอญเขาสร้างไว้มันเล็กจึงทำให้ใหญ่ขึ้นพอสมควร ส่วนเจดีย์เก่า และมณฑป ก็ซ่อมแซมให้ดีขึ้น และสร้างอุโบสถหลังขนาดย่อมๆ เหมาะแก่การทำสังฆกรรม เมื่อ พ.ศ. 2443 โดยทำการปิดทองลูกนิมิต และผูกพัทธเสมา


ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 10 - 6 -52

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วัดศรีชมภูราษฎร์ศรัทธาธรรม


วัดศรีชมภูราษฎร์ศรัทธาธรรม หรือที่เรียกว่า วัดศรีชมภู ตั้งอยู่ที่ถนน มนตรีสุริยวงศ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี วัดศรีชมภู สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2423 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2490 ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือจดแม่น้ำ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก จดถนนมนตรีสุริยวงศ์ ศาลาการเปรียญ กว้าง 14 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2536 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ในบริเวณวัดมีกุฎิสงฆ์ จำนวน 5 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง และตึกอีก 3 หลัง เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ศาลาเอนกประสงค์ มีความกว้าง 20 เมตร ยาว 80 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในอุโบสถของวัด มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระประธานประจำอุโบสถ 1 องค์ พร้อมพระอัครสาวก


ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 8 - 6 - 52

วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วัดสัตตนารถปริวัตร


วัดสัตตนารถปริวัตร ตั้งอยู่ในบริเวณ ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งวัดร้าง ชื่อ “วัดกลางบ้าน” หรือ “ วัดโพธิ์งาม ” วัดร้างดังกล่าวนี้สร้างโดย ชุมชนไทยยวนที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน จ. เชียงราย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ต่อมาในสมัยพระปรมินทร์มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ ให้สร้างพระราชวังที่ภูเขาสัตตนารถ ทรงให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) จัดทำผาติกรรม ไถ่ถอนที่ดินวัดเขาสัตตนารถให้พ้นจากที่ธรณีสงฆ์ แล้วให้ย้ายวัดสัตตนารถ และก่อสร้างปรับปรุงวัดกลางบ้าน หรือวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นวัดร้างริมแม่น้ำแม่กลองขึ้นใหม่ขนานนามวัดใหม่นี้ว่า “วัดสัตตนารถปริวัตร” แปลว่าวัดที่ย้ายเปลี่ยนไปจากวัดเขาสัตตนารถ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปณาวัดสัตตนารถปริวัตร ให้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ระดับวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และโปรดเกล้าฯ ให้พระครูสีลคุณธราจารย์ (พระมหานิล) จากวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพฯ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร รูปแรกในปี พ.ศ. 2414 และพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ถ่ายภาพ อ้อยกานต์ / คมปิยะ
ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์

วันที่ 3 - 6 - 52

วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552

วัดคูบัว


วัดคูบัว เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อยู่ในเขตเมืองโบราณ สมัยทวารวดี ศตวรรษที่ 11 – 16 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง มีแต่คำบอกเล่าว่า มีการย้ายวัดมาแล้วถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกได้สร้างวัดที่บริเวณสถานีรถไฟบ้านคูบัว หลังจากนั้นได้ย้ายมาริมห้วยคูบัว นานพอสมควร ภายหลังเห็นว่าที่ตั้งวัดไม่เหมาะสม เนื่องจากติดกับลำห้วย มีเสียงรบกวนการสัญจรทางเรือเป็นอย่างมาก จึงเห็นว่าที่ดินที่ตั้งวัดอยู่ในปัจจุบันมีความเหมาะสม จึงได้ย้ายวัดมาสร้างจนถึงปัจจุบัน
ภายในวัดมีพระอุโบสถ ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2536 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 30 เมตร ยาว 60 เมตร พระพุทธรูปที่สำคัญของวัด คือ หลวงพ่อแดง - หลวงพ่อดำ เป็นพระพุทธรูปที่ทำด้วยศิลาแลง ปางสดุ้งมาร เป็นที่เคารพของชาวบ้าน โดยชาวบ้านที่มาขอพร ก็จะสมความปรารถนา และในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน ทางวัดจะจัดงานประจำปี ให้ชาวบ้านได้สักการะบูชา และแก้บ่นตามที่ได้ขอพรกันไว้




ถ่ายภาพ คมปิยะ / อ้อยกานต์

ตัดต่อ คมปิยะ
บทโทรทัศน์ คมปิยะ
เสียงบรรยาย อ้อยกานต์
วันที่ 1 - 6 - 52