วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลวงพ่ออมรินทราเมศร์



หลวงพ่ออมรินทราเมศร์ พระประธานในวิหาร เป็นพระประธานคู่ ปางสะดุ้งมาร หันหลังให้กัน องค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อีกองค์หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัดอมรินทราราม (วัดตาล) มีอายุ 191 ปี ผู้คนนิยมมากราบไหว้บูชา เพื่อขอพร หลวงพ่ออมรินทราเมศร์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 พุทธศักราช 2363 เมื่อเริ่มก่อสร้างวัดได้สร้างวิหารหลังนี้ขึ้นก่อน และใช้วิหารหลังนี้ทำสังฆกรรมแทนอุโบสถ เมื่อสร้างโบสถ์ (อุโบสถ) เสร็จแล้ว จึงใช้เป็นวิหารดังเดิม


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ค่ายหลวงบ้านไร่



ค่ายหลวงบ้านไร่ อยู่ห่างจากตังจังหวัดประมาณ 19 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เคยเป็นที่ตั้งของค่ายลูกเสือในรัชกาลที่ 6 เมื่อพระองค์ยกกองลูกเสือมาซ้อมรบในจังหวัดราชบุรีหลายจุด ทางราชการได้สร้างพระบรมราชานุเสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในท่านั่งประทับทอดพระเนตรการซ้อมลูกเสือ ซึ่งได้เคยพระราชดำเนินมาร่วมประลองยุทธเสือป่า และลูกเสือ เพื่อให้รู้จักยุทธวิธีการสงคราม รู้จักการรักษาดินแดนของสยามประเทศ โดยทรงวางแผนนโยบาย และทรงสั่งสอนเสือป่าด้วยพระองค์เอง และได้เสด็จมาที่ค่ายหลวงบ้านไร่นี้หลายครั้ง เพื่อฝึกเสือป่าทางภาคปฏิบัติด้วยการซ้อมรบ สมมุติเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น มีการฝึกขุดสนามเพลาะหัตเพลงอาวุธ ฝึกสะกดรอย ตามรอยผู้ร้ายและในตอนกลางคืน พระองค์จะทรงเปิดแสดงละครร่วมกับคณะเสือป่า ที่ค่ายหลวงโพธาราม เพื่อให้เสือป่าและชาวบ้านได้ชม

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วัดพระศรีอารย์


วัดพระศรีอารย์ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ติดกับถนนเพชรเกษมประมาณ กม. ที่ 74 สร้างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี 2275 มีอายุประมาณ 260 ปี เดิมชื่อวัดสระอาน ไม่มีพระภิกษุมาอยู่จำพรรษา จนถึงประมาณปี 2475 เริ่มมีพระภิกษุเข้ามาพักจำพรรษาเรื่อยมาในปี 2500 ได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดสระอาน มาเป็น วัดพระศรีอารย์ อุโบสถทองคำร้อยล้าน ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 37 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ภายในติดกระจก ลงรักปิดทองบานประตู หน้าต่างแกะสลักเรื่องพุทธประวัติ ฝาผนังแต่งแต้มด้วยจิตรกรรมเรื่องพระมหาชนก พระเจ้า 5 พระองค์ พระประธานในอุโบสถ สร้างจากหินหยกขาว หลวงพ่ออุตตมะ แห่งวัดวังก์วิเวการาม จังหวัดกาญจนบุรี เมตตาอธิษฐาน ณ อุโบสถวัดพระศรีอารย์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2536
นอกจากนี้แล้ว ที่วัดพระศรีอารย์ ยังจัดศูนย์อบรมค่ายพุทธบุตร สอนให้ยุวชนเข้าใจถึงหลักคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่มาชมอุโบสถทองคำร้อยล้านแห่งนี้แล้ว ยังจะมีโอกาสได้กราบสักการะร่างของหลวงพ่อขันธ์ (อดีตเจ้าอาวาส) ที่ไม่เน่าเปื่อยอยู่ในโลงแก้วอีกด้วย ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0 3223 2595 , 0 3223 1351

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552

สวนศิลป์ บ้านดิน



สวนศิลป์ บ้านดิน ตั้งอยู่ที่ตำบลเจ็ดเสมียน จังหวัดราชบุรี ถือกำเนิด จากดำริ ของครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ผู้อำนวยการภัทราวดี เธียเตอร์ ในการที่จะจัดสร้าง เพื่อเป็นสถานที่ถ่ายทำละครโทรทัศน์ เรื่อง “ตม” ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ด้วยการสร้างสรรค์ของนายดี ศิลปินดินปั้น เมื่อปี พ.ศ. 2546 เป็นบ้านที่ก่อสร้างด้วยดินผสมแกลบตลอดทั้งหลัง และในปีเดียวกัน สวนศิลป์ บ้านดิน ได้ปรับปรุงต่อเติม และก่อตั้งเป็นศิลปะสถานท่ามกลางธรรมชาติล้อมรอบด้วยคูน้ำ และสวนมะม่วงบนเนื้อที่ 3 ไร่ เพื่อให้เป็นสถานที่รองรับกิจกรรมต่างๆ ในทุกรูปแบบอย่างครบวงจรเพื่อสร้าง พัฒนา และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะในแขนงต่างๆ ระหว่าง ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป เปิดสอนวาดภาพ รำไทย โขน ดนตรีไทย นาฏศิลป์พื้นบ้าน นาฎศิลป์ร่วมสมัย นาฏศิลป์ตะวันตก และศิลปะป้องกันตัว ภายใต้การดูแลของภัทราวดี เธียเตอร์ ดำเนินงานโดย คุณมานพ มีจำรัส ผู้อำนวยการสวนศิลป์ บ้านดิน ราชบุรี นักแสดง ผู้กำกับลีลา ผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งศิลปะไทย และสากล ได้รับทุนจากภัทราวดี เธียเตอร์ เพื่อศึกษาศิลปะศาสตร์หลากหลายสาขาทั้งใน และต่างประเทศตั้งแต่ปี 2535 ได้รับเกียรติจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นศิลปินร่วมสมัย รางวัลศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดงร่วมสมัยประจำปี พ.ศ. 2548 ภายในบริเวณสวนศิลป์ บ้านดิน ยังมีบริการที่พัก มุมคอฟฟี่ช็อป และอาหารมังสวิรัติ ให้บริการเช่าสถานที่ทำกิจกรรม สัมมนา หรือจัดการแสดงด้วย ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 032-397668 หรือ 081 - 8317041

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

โบสถ์คริสต์วัดพระหฤทัยวัดเพลง



โบสถ์คริสต์วัดพระหฤทัยวัดเพลง ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ริมคลองแควอ้อม มีอายุกว่า 100 ปี โดยโบสถ์หลังแรกเป็นโบสถ์ไม้ โบสถ์หลังปัจจุบันเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2423 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2446 ปัจจุบันโบสถ์พระหฤทัยวัดเพลงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค ลักษณะโครงเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก ถ่ายน้ำหนักลงสู่เสาเข็มไม้ผนังก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะโดยรวมงดงามมาก ทางโบสถ์ได้จัดงานครบรอบ 100 ปี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วัดบ้านกล้วย


วัดบ้านกล้วย ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ติดกับริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง สร้างวัดในสมัยตอนปลายอยุธยา พ.ศ. ใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ความเป็นมาของวัดบ้านกล้วย และท้องถิ่นวัด เป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล แห่งแรกของตำบลโคกหม้อ ตำบลท่าราบ ตำบลหนองกลางนา วัดบ้านกล้วยแห่งนี้เป็นวัดอรัญวาสี (วัดชนบท) ซึ่งอยู่ใกล้เมือง ได้แก่ วัดโคกหม้อ วัดอรัญญิก วัดเจดีย์หัก มีวัดที่เป็นศูนย์กลาง คือวัดมหาธาตุวรวิหาร ประชาชนสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองตอนใต้ และตอนเหนือขึ้นไปส่วนใหญ่เป็นชาวมอญ เดิมมีอาชีพทำนา และค้าขาย (ทางน้ำ) ได้แก่ กลองมอญอยู่ใต้วัด ทางเสด็จอยู่ใกล้บ้านอดีตผู้ใหญ่หนุ่ม ต่อมามีชาวจีนมาอยู่สันนิษฐานว่ามาจากซัวเถา เป็นลูกหลานจีนมีบรรดาศักดิ์เป็นขุนนาถสารีโภชน์ เป็นนายบ้าน คือผู้ใหญ่บ้าน ที่สืบเชื้อสายมาจาก ขุนนาถสารีโภชน์ คือ ตระกูลโภชน์พันธ์ศรีโยธิน เป็นต้น

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วัดหนองเกษร



วัดหนองเกษร ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี อยู่ติดกับหนองน้ำสระบางควาย ที่ปัจจุบันชาวบ้านใช้เป็นบ่อน้ำสาธารณูปโภค วัดหนองเกษรสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2517 โดยโยมผาด คล้ายพลั้ง ได้มาซื้อพื้นที่บริเวณนี้สร้างวัด มีจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ เป็นเงิน 80,000 บาท ตอนแรกพื้นที่บริเวณนี้เป็นสำนักสงฆ์ปิ่นประชา จากนั้นในปีพุทธศักราช 2522 ได้มีการปิดทองฝังลูกนิมิต จึงเปลี่ยนจากสำนักสงฆ์ปิ่นประชา มาเป็นวัดหนองเกษร ปัจจุบันมีพระครูพิพัฒน์ ปัญญาคม (หลวงพ่อปิ่น) เป็นเจ้าอาวาส ภายในบริเวณวัดมีวิหารหลวงพ่อเกษร วิหารเล็กหลวงพ่อวัดปากน้ำ โบสถ์ที่ทางวัดทำเรื่องส่งไปที่สำนักพระราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระประธานไว้ในโบสถ์ และได้ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามกุฏราชกุมาร เสด็จมาเบิกเนตรพระประธานในโบสถ์ ปีพุทธศักราช 2519 นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมี ศาลตายาย พ่อโควิน และแม่ชี เจ้าของพื้นที่วัดหนองเกษรก่อนที่โยมผาดจะมาซื้อที่ ซึ่งทางวัดได้จัดให้มีงานประจำปีแห่หลวงพ่อเกษร ทุกวันพฤหัสแรกของเดือน 5 ทุกปี มีการจัดกิจกรรมแห่ผ้าไตร และทำพิธีไหว้ครูรูปหล่อหลวงพ่อเกษร

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 7 – 10 – 52

ศาลเจ้าพ่อหลักหิน



ศาลเจ้าพ่อหลักหิน สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด มีแต่เอกสารบางชิ้นประกอบกับคนสมัยโบราณเล่ากันต่อๆมา พอจะอนุโลมตามข้อเท็จจริงได้ว่า เมื่อประมาณ 1,000 ปีล่วงมาแล้ว ในสมัยทวารวดีมีหลักศิลาจารึก เรียกว่า “เจ้าพ่อหลักหิน” ประดิษฐานอยู่ระหว่างบ้านหนองเกษร กับวัดโขลง ถิ่นเดียวกับวัดคูบัว ซึ่งกรมศิลปากรได้ยกเมืองคูบัวขึ้นเป็นเมืองประวัติศาสตร์
เมื่อประมาณ 60 – 70 ปีมาแล้ว มีชาวนาแถวบริเวณบ้านหนองเกษร กำลังลงแขกนวดข้าว ได้งมหลักศิลาจารึกขึ้นมาจากลำคลอง 1 แท่ง ลักษณะท่อนล่างคล้ายดอกบัวตูม ช่วงบนเป็นสี่เหลี่ยมเสมอกัน ยอดเป็นรูปจั่วมีสีเขียวคล้ำ ยาวประมาณ 1 เมตรเศษ เชื่อว่าคงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงนำหลักขึ้นเกวียนร่วมกันแห่ เพื่อนำมามอบให้กับที่ว่าการกิ่งอำเภอวัดเพลง และได้ทำพิธีอัญเชิญหลักหิน มาประดิษฐานไว้ที่ว่าการอำเภอวัดเพลงด้านซ้าย เพื่อให้ประชาชนได้เคารพกราบไหว้ เสมือนหนึ่งเป็นหลักเมืองของกิ่งอำเภอวัดเพลง โดยมีนายจรูญ พลับสวาท นายอำเภอวัดเพลง ปี 2526 เป็นผู้ริเริ่มในการก่อสร้างศาล จากความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อหลักหิน คือ การบนบานขอให้ของหายได้คืน ขอให้หายจากอาการเจ็บป่วย และขอให้บันดาลความสำเร็จตามความประสงค์ต่างๆ จนเป็นที่นิยมนับถือกันตลอดมา


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 12 – 10 – 52

สวนงูเด็กไทย



สวนงูเด็กไทย ตั้งอยู่ที่ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี คุณเฉลียว สุขโชค เจ้าของสวนงูกล่าวว่า สวนงูเด็กไทยเปิดมาได้ประมาณ 27 ปี โดยก่อนที่จะเปิดสวนงู ตนได้ไปแสดงโชว์งูอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้นำความรู้ที่ได้เรียนสั่งสมมา กลับมาเปิดสวนงูที่ประเทศไทย โดยตนจะรับซื้องูต่างๆ จากชาวบ้านที่นำมาขาย โดยเฉพาะถ้าเป็นงูประเภทที่หายากก็จะได้ราคาสูง เพราะสามารถนำไปให้คนดู เป็นความรู้จากสื่อการเรียนการสอน และสามารถนำไปโชว์ได้ สวนงูเด็กไทยได้จัดการแสดงโชว์ทั้งหมดรวม 5 ชุด มีการแสดงจับงูเห่า การแสดงโชว์งูเหลือม การคาบงูปล้องทอง การแสดงงูสปริง และการต่อสู้ของงูเห่ากับพังพอน ภายในบริเวณยังมีงูประเภทต่างๆ ไว้ให้ชมอีกมากมาย มีทั้งแบบไว้ให้ดู และให้สัมผัสกับมันได้ โดยเฉพาะเจ้างูเหลือมเผือกสีเหลืองทอง และเจ้างูเหลือมคู่นี้ ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะให้ความสนใจกันมากเป็นพิเศษ เพราะไม่มีอันตราย และมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด นอกจากงูแล้ว ในสวนงูเด็กไทยยังมี ตัวเงินตัวทอง จระเข้น้ำขนาดใหญ่ ที่ให้นักท่องเที่ยวได้ชม และทึ่งกับขนาดความใหญ่โตของมัน และเมื่อชมการแสดงเสร็จแล้ว ก็ยังมีศูนย์จำหน่ายสินค้าเครื่องหนังต่างๆ มีทั้งหนังงู หนังปลากระเบน หนังจระเข้ หนังวัว ฯลฯ เสื้อผ้า และของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งถ้านักท่องเที่ยวที่สนใจอยากจะมาเที่ยวด้วย พักผ่อนด้วย ก็จะมีบ้านสุขโชครีสอร์ท ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ อยู่ติดกับสวนงู ไว้เตรียมรับรองโดยมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสวนงูเด็กไทยจะเปิดทำการโชว์ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9.30 – 12.30 น. อัตราการเข้าชมเด็กนักเรียนที่มาทัศนศึกษาคนละ 20 บาท นักท่องเที่ยวชาวไทย 50 บาท นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 200 บาท ส่วนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง เข้ารับชมฟรี ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 032 – 254982 หรือติดต่อได้ที่คุณวันดี เบอร์ 081-8203947 , 081- 4339547

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 25 – 9 – 52

วัดเกาะศาลพระ



วัดเกาะศาลพระ ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี ประมาณ 10 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ ด้านหน้าวัดอยู่ติดกับริมฝั่งขวาแม่น้ำแควอ้อม ด้านหลังอยู่ติดกับโรงเรียนประชาบาล และถนนสายราชบุรี – วัดเพลง
วัดเกาะศาลพระ เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่พอสันนิษฐานได้จากศิลปะลวดลายที่ซุ้มประตู และหน้าบันอุโบสถหลังเก่าว่า สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือต้นรัตนโกสินทร์ เดิมเคยมีเสาหงส์อยู่ 2 ต้น ตั้งอยู่ใกล้ศาลาการเปรียญอุโบสถหลังเดิม มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.80 เมตร สร้างด้วยศิลาแลง พร้อมด้วยพระโมคคัลลา กับ พระสารีบุตร ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ มีเจดีย์องค์ใหญ่ 1 องค์ อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด บริเวณรอบอุโบสถหลังเก่า มีต้นอิน จัน 8 ต้น อายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี
ในปี พ.ศ. 2514 ประชาชนในท้องถิ่น และตำบลใกล้เคียงได้พร้อมใจกันก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2518 โดยได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 ของวัดราชบพิธสถิตมหาศรีมาราม อัญเชิญพระพุทธชินราชองค์จำลองขนาดหน้าตัก 4 ศอก 1 นิ้ว ขึ้นเป็นพระประธานในอุโบสถหลังใหม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2522 พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฏราชกุมาร ทรงมาประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ และทรงอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ ม.ว.ก. ขึ้นประดิษฐานไว้หน้าอุโบสถหลังใหม่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จมาประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิตอุโบสถ แล้วจึงประกอบพิธีผูกพันธสีมา ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2526

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 16-10-52

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วัดหลวง



วัดหลวง เป็นวัดโบราณ สร้างในราวสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง และ พ.ศ. ที่สร้าง ไม่มีหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรอื่น นอกจากอักขระขอมมอญ ที่จารึกไว้บนแผ่นเสมาด้านหน้าอุโบสถทั้งในอดีต และปัจจุบัน เป็นสถานที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะ ต้นอินทร์ – จันทน์ ที่ใหญ่ที่สุดจำนวน 2 ต้น ปลูกขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 22 – 23 เก่าแก่นับร้อยปี คาดว่าปลูกตอนสร้างอุโบสถครั้งแรก ปลูกไว้คู่กัน ต้นหนึ่งปลูกอยู่ด้านทิศเหนือของอุโบสถ มีขนาด 12.36 เมตร อีกต้นหนึ่งปลูกอยู่ด้านทิศใต้ของอุโบสถมีขนาด 10.50 เมตร และยังมีต้นไม้ใหญ่หลายประเภท เช่น ตะเคียนทอง ยางประดู่ สัก กรรริกา ต้นอินทร์ – จันทร์ เป็นต้น อุโบสถของวัด ไม่ปรากฏปีที่สร้าง เป็นศิลปะสมัยอยุธยาเรียก “โบสถ์มหาอุต” โดยรอบเสา และผนังอุโบสถก่อด้วยอิฐแดงถือปูน มีระเบียงโดยรอบ ใบเสมารอบอุโบสถ เป็นใบเสมาคู่ทำด้วยหินทรายสีแดง ด้านนอกรายรอบด้วยกำแพงแก้ว ก่อด้วยอิฐแดงก้อนโตขนาด 14 คูณ 29 คูณ 6 เซนติเมตร ภายในกำแพงแก้วโดยรอบจะมีเจดีย์ศิลปะอยุธยาทรงระฆังคว่ำ อุโบสถเดิมมีภาพจิตรกรรมสวยงามมาก แต่ในปี 2468 ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ เจาะประตูด้านหลัง และหน้าต่างโดยรอบ กะเทาะผิวปูนทั้งหมดออก แล้วฉาบปูนใหม่ ทำให้ภาพจิตรกรรมสูญหายไปในครั้งนั้น

ถ่ายภาพ : ภัทรพงศ์
ตัดต่อ / บทโทรทัศน์ : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 5 – 10 – 52

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก


ตลาดน้ำดำเนินสะดวก อยู่ติดกับถนนสุขาภิบาล 1 มีอาณาบริเวณตลอดคลองต้นเข็ม ปากคลองด้านที่บรรจบกับคลองเฮียกุ่ย จะมีร้านขายของที่ระลึกตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้ที่ไปชมตลาดน้ำสามารถเดินชมไปตามแนวคอนกรีตข้างลำคลองได้จนตลอดถึงปากคลองอีกด้านหนึ่งที่บรรจบกับคลองดำเนินสะดวก


ตลาดน้ำ เป็นวัฒนธรรมของชาวบ้านที่ค้าขายกันทางน้ำ โดยใช้เรือพายเล็กๆ เป็นพาหนะติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าตั้งแต่เช้ามืดจนใกล้เที่ยงวัน ช่วงที่ตลาดน้ำคึกคัก อยู่ในระหว่างเวลา 07.00 – 12.00 น. ตลาดน้ำแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพราะได้ซ่อนเร้นไว้ด้วยความสวยงาม และเสน่ห์แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันตลาดน้ำแห่งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เมื่อชมตลาดน้ำแห่งนี้แล้ว สามารถนั่งเรือชมทิวทัศน์ และวิถีชีวิตของชาวบ้านริมคลองต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง



ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 2 – 10 – 52