วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

วัดศิริเจริญเนินหม้อ



วัดศิริเจริญเนินหม้อ ตั้งอยู่เลขที่ 120 หมู่ที่ 3 ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 32 ไร่ 3 งาน 87 ตารางวา ทิศตะวันตกจดแม่น้ำแม่กลอง วัดศิริเจริญเนินหม้อ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2373 เดิมชื่อวัดโคกหม้อ เพราะพื้นที่ตั้งวัดมีการทำหม้อดินเผามาก และที่เนินเจดีย์ของวัด เป็นโบราณสถาน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา ต่อมามีพระรูปหนึ่งเดินทางมาพบโบราณสถาน จึงได้ชักชวนชาวบ้านและญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบูรณะ จึงมีการเปลี่ยนชื่อวัดมาจนถึงทุกวันนี้ วัดศิริเจริญเนินหม้อ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2500 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 50 เมตร ปัจจุบันมีพระมหาวินัย ปิยวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาส

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

สวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง



สวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ตั้งอยู่เชิงเขาประทับช้าง เขตติดต่อกับสวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง เป็นศูนย์เพาะเลี้ยง และขยายพันธ์สัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธ์ ส่วนหนึ่งจัดเป็นสวนสัตว์เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ชมสัตว์ป่าอย่างใกล้ชิด มีพื้นที่โดยรอบทั้งหมด 30 ไร่ เป็นพื้นที่เฉพาะให้นักท่องเที่ยวเดินชมสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์ได้ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งสัตว์ที่อยู่ในสวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง เป็นสัตว์ที่ชาวบ้าน หรือประชาชนบริจาคเข้ามาทั้งหมด ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเขาประทับช้าง กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การเดินทาง รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ นั่งรถสายกรุงเทพฯ - จอมบึง มาลงที่หน้าถ้ำเขาบิน สวนพฤกษศาสตร์วรรณคดีภาคกลาง เขาประทับช้างอยู่ฝั่งตรงข้ามปากทางเข้าถ้ำเขาบิน โดยสวนสัตว์เปิด สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จะเปิดให้บริการเข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.30 น. - 16.30 น.

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา


วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553

วัดเจติยาราม (เจดีย์หัก)



วัดเจติยาราม ตั้งอยู่เลขที่ 154 บ้านเจดีย์หัก หมู่ที่ 3 ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวา วัดเจติยาราม ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2420 นามเดิมเรียกว่า วัดบ้านธาตุ แต่ชาวบ้านและคนทั่วไปนิยมเรียกว่าวัดเจดีย์หัก สืบเนื่องมาจากบริเวณวัดมีโบราณสถาน คือ องค์เจดีย์ สำหรับเจดีย์ที่อยู่นอกวัดได้รับการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ส่วนองค์ที่อยู่ภายในวัดคงชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอู่ทองมีอายุประมาณ 600 – 700 ปี ไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้สร้าง เช่นเดียวกับวัดไม่มีหลักฐานนามผู้สร้างเช่นกัน สันนิษฐานว่าชาวบ้านในละแวกนั้นพร้อมใจกันสร้างด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล ปี พ.ศ. 2499 พระครูบัณฑิตรัตนากร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อจากวัดเดิมเป็น “วัดเจติยาราม” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2471

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

พระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหาร



พระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดหน้าพระธาตุ เป็นพระปรางค์เก่าแก่ที่สร้างด้วยอิฐฉาบปูน และมีฐานเป็นศิลาแลงจำลองแบบมาจากนครวัด สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในแหลมสุวรรณภูมิ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 บริเวณฐานระเบียงมีทางเดินได้รอบ มีเจดีย์ซุ้มทั้งสี่ด้าน ที่วิหารคดรอบลานพระปรางค์มีพุทธรูปศิลาแลงสมัยทวารวดี สมัยลพบุรี และสมัยอยุธยา ประดิษฐานอยู่โดยรอบ ส่วนกำแพงวัดสร้างด้วยศิลาแลง ทับหลังกำแพงเป็นศิลาทรายแดง สลักภาพพระพุทธรูปปางสมาธิเรียงรายตลอดแนวกำแพง สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นศาสนสถานของขอม เมื่อขอมเสื่อมอำนาจลง พุทธศาสนาได้เผยแพร่มายังสุวรรณภูมิ สถานที่แห่งนี้จึงถูกดัดแปลงมาเป็นวัดในพุทธศาสนาสืบทอดจนถึงปัจจุบัน

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2553

น้ำพุร้อนโป่งกระทิง



น้ำพุร้อนโป่งกระทิง ตั้งอยู่ที่บ้านพุน้ำร้อน หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านบึง กิ่งอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี เดินทางจากจังหวัดราชบุรีมาตามถนนเพชรเกษมเลี้ยวขวา แยกปากท่อ ตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3206 ถึงบ้านพุน้ำร้อนระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร หรือเดินทางจากจังหวัดราชบุรีมาทางจอมบึงใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3087 ถึงบ้านพุน้ำร้อนระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร หรือเดินทางจากจังหวัดราชบุรี มาทางชัฏป่าหวายใช้ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 3208 ถึงพุน้ำร้อน ระยะทางประมาณ 83 กิโลเมตร
น้ำพุร้อนโป่งกระทิง ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน
เป็นบ่อน้ำร้อนแบบบ่อธรรมดา ขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เมตร ความร้อนประมาณ 65 องศาเซลเซียส เป็นแหล่งท่องเที่ยวการอาบน้ำแร่เพื่อสุขภาพ และสถานที่กางเต็นท์ เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อมีคนจำนวนมากมายืนล้อมรอบบ่อและช่วยกันปรบมือ หรือ เคาะทำเสียงดัง น้ำในบ่อจะเริ่มเดือดจนมีพรายน้ำพุพุ่งมาเหนือผิวน้ำ
ใกล้กันมีบ่อน้ำเล็ก ๆ สำหรับอาบน้ำร้อนได้ แต่ผู้ที่จะลงอาบน้ำร้อนจะต้องลงไปแช่น้ำเย็นที่อยู่บริเวณใกล้กันเสียก่อน ซึ่งน้ำเย็นนี้เป็นน้ำแร่ที่ไหลมาจากธรรมชาติ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับอุณหภูมิ เพราะร่างกายของคนเราร้อนถ้าหากว่าลงไปแช่น้ำร้อนเลยก็อาจเกิดอันตรายได้เพราะปรับอุณหภูมิไม่ทัน โดยผู้ที่ลงแช่น้ำร้อนจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ผู้เล่นไม่ควรที่จะลงแช่น้ำร้อนทั้งตัวภายในเวลาเดียวกัน แต่ควรที่จะค่อยๆ เอาร่างกายแช่ลงไปที่ละส่วน และไม่ควรแช่เกิน 20 นาที สำหรับผู้ที่เป็นโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน โรคหัวใจ เพราะอาจทำให้แน่นหน้าอก และเกิดอาการหน้ามืดได้ โดยมีการเล่าและบอกต่อกันมาของผู้ที่เคยเดินทางมาแช่น้ำร้อนที่นี่ ว่าร่างกายของตนมีสุขภาพดีขึ้น โรคที่เคยเป็นก็บรรเทาอาการลง จึงทำให้น้ำพุร้อนแห่งนี้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาพักผ่อน

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน



อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน ตั้งอยู่ที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มีอาณาเขตที่เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติมากมาย มีลำห้วย 5 ลำห้วย ซึ่งสามารถเดินทางเพื่อท่องเที่ยวในลักษณะชื่นชมความสมบูรณ์ของผืนป่า และบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของปลาค้อไทยประจันอีกด้วย เมื่อเข้าไปในอุทยานจะพบน้ำตกไทยประจัน เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีลักษณะเป็นสายน้ำยาว มีน้ำไหลตลอดปี มีทั้งหมด 11 ชั้น การเดินทางเข้าไปเที่ยวชมน้ำตกไทยประจันจะต้องเดินจากห้วย 5 เข้าไปประมาณ 20 กม. ก็จะถึงน้ำตกชั้นที่ 1 การเดินทางค่อนข้างสะดวก จุดชมทิวทัศน์เหนืออ่างเก็บน้ำ ในบริเวณอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันมีอ่างเก็บน้ำอยู่หลายแห่ง ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม เหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และประกอบกิจกรรมทางน้ำ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดราชบุรี 032 – 322028 หรือสำนักงานโครงการอุทยาน โทร 081 – 9020631


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

สวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน



สวนสาธารณะจักรีอนุสรณ์สถาน ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนตะโก ถนนเพชรเกษม อำเภอเมืองราชบุรี บริเวณเชิงเขาแก่นจันทร์ เป็นที่ตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ยุทธภูมิบ้านนางแก้ว เมืองราชบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ครั้งสมัยรับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงได้รับมอบให้เป็นแม่ทัพรบกับพม่า และพระองค์เคยได้รับราชการตำแหน่ง “หลวงยกกระบัตร” เมืองราชบุรี ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ชาวราชบุรีพร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้นในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อันเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อสักการะและรำลึกถึงพระองค์ ปัจจุบันจังหวัดได้ปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะที่สวยงาม เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายของประชาชนทั่วไป

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553

วัดจอมบึง



วัดจอมบึง ตั้งอยู่เลขที่ 746 บ้านกลาง หมู่ที่ 3 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 12 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา วัดจอมบึง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2454 มีหลวงพ่อคูณ เป็นผู้ก่อตั้ง ในสมัยก่อนวัดจอมบึงตั้งอยู่ที่บ้านเกาะ กิ่งอำเภอจอมบึง ต่อมาทางวัดและชาวบ้านดำริที่จะย้ายวัด จากบ้านเกาะมาสร้างที่ริมบึงจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากที่เดิมไม่สะดวกเรื่องน้ำ และไกลหมู่บ้านเกินไป ไม่สะดวกต่อการบำเพ็ญสมณธรรม ทางวัดจึงได้เตรียมสิ่งก่อสร้างและปรับที่ดินเพื่อสร้างวัดใหม่ ต่อมาทางวัดได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ ขนาด 5 วา ประดิษฐานไว้ในถ้ำจอมพล และได้ซื้อที่ดินบริเวณหน้าถ้ำข้างสวนรุกขชาติของกรมป่าไม้ เพื่อเป็นการจัดงานประจำปี ปิดทองพระพุทธไสยาสน์จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2502 ทางวัดได้มีการสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ เนื่องจากหลังเก่าได้ทรุดโทรมมาก และได้มีการยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญเมื่อ พ.ศ. 2515 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2467 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ปัจจุบันมีเจ้าอธิการชูชาติ โชติกโร เป็นเจ้าอาวาส


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา