วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

โป่งยุบ



โป่งยุบ ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเคย ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เป็นพื้นที่ของชาวบ้าน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีลักษณะแปลกตา เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดินทำให้เกิดลักษณะโตรกผาคล้ายแพะเมืองผี จังหวัดแพร่ เนื่องจากเป็นที่ส่วนบุคคล ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหลัก ดังนั้นต้องสังเกตป้ายบอกทางให้ดี เพราะป้ายเล็ก เมื่อถึงที่จอดรถก็จะมีรั้วที่เจ้าของกั้นไว้ ชำระค่าเข้าชมเป็นคันรถ คันละ 40 – 80 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของรถ และจำนวนคน สอบถามได้จากเจ้าของที่ที่เฝ้าอยู่หน้าทางเข้า เดินเข้าไปตามป้ายบอกทาง จะวนจนครบรอบกลับมาที่ทางออกพอดี
โป่งยุบเกิดจากการปั้นแต่งของธรรมชาติ ที่น้ำใต้ดินกัดเซาะเป็นเวลานานนับร้อยปี ทำให้ดินยุบตัวลงมาอัดกันแน่นเกิดเป็นรูปร่างตามแนวน้ำใต้ดินที่กัดเซาะ บางบริเวณจะคล้ายกำแพงเมืองสูงล้อมรอบ ดูยิ่งใหญ่เหมือนอยู่ในยุคโรมัน บางบริเวณจะเหมือนช่องถ้ำให้มุดลงไป หรือบางครั้งเป็นหลุมลึกขนาดพอดีตัว บางส่วนมีความซับซ้อนหลายชั้นเหมือนกับเดินอยู่ในเขาวงกตดูแปลกตา และนี่คือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ส่วนที่สูงและลึกที่สุดของโป่งยุบประมาณ 3-5 เมตร ข้อควรระวัง หากมีเด็กเล็กระวังอย่าให้วิ่งเล่นโดยไม่ได้ดูแล อาจตกลงไปในหลุมโดยไม่รู้ตัวได้ เนื่องจากบางหลุมปากหลุมไม่กว้างมากนัก แต่ลึก และถูกบดบังด้วยต้นหญ้า และถ้ามีผู้สูงอายุที่มีปัญหาหัวเข่ามาด้วยควรให้พักรอ เนื่องจากเส้นทางค่อนข้างลาดชัน และระยะทางยาวพอสมควร ถ้าบวกกับอากาศร้อนตอนกลางวันยิ่งจะทำให้เหนื่อยเร็วขึ้น โดยโป่งยุบจะเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00 – 18.00 น.

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ธารน้ำร้อนบ่อคลึง


ธารน้ำร้อนบ่อคลึง ตั้งอยู่ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ผู้ค้นพบคือ นายประยูร โมนยะกุล โดยนายประยูรได้เข้ามาทำเหมืองแร่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 ที่ฝั่งตรงข้ามธารน้ำร้อนแห่งนี้ และได้ใช้ที่ดินบริเวณธารน้ำร้อนนี้ปลูกบ้านพักอาศัย ปลูกพืช เลี้ยวสัตว์ บ้านพักคนงาน และได้ค้นหาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค จนกระทั่งพบตาน้ำร้อน เป็นน้ำซับซึมขึ้นมาจากทราย จึงได้ให้คนงานรื้อทรายออกและขุดเป็นบ่อน้ำเพื่อตักน้ำมาใช้ ต่อมาได้ให้คนงานซึ่งเป็นหน่วยพัฒนาของครอบครัวช่วยกันรื้อทรายออกแล้วปล่อยให้น้ำไหลลงมาเป็นลำธาร เหมือนที่ท่านเห็นทุกวัน นายประยูร ได้ดูแลรักษาที่นี่ด้วยหยาดเหงื่อแรงกายและชีวิตของท่าน ไม่ให้ใครมาตัดไม้ทำลายป่า หรือทำเหมืองแร่เถื่อนบริเวณนี้ และได้ทำเขื่อนกั้นน้ำเย็นออกจากน้ำร้อน เพื่ออนุรักษ์ธารน้ำร้อนแห่งนี้เอาไว้ และเรียกที่แห่งนี้ว่า “Hot Spring of Klueng Land”
มหัศจรรย์ธรรมชาติที่ธรรมชาติสร้างขึ้น จากตาน้ำที่มีอุณหภูมิสูงถึง 57 องศาเซลเซียส ทำให้ลำธารที่เกิดจากการผุดของตาน้ำแห่งนี้ กลายเป็นธารน้ำแร่ที่สะอาด ปราศจากแร่ธาตุที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ในยามเช้าของฤดูหนาวไอน้ำร้อนจะลอยกรุ่นขึ้นเป็นหมอกสวยลอยเป็นชั้นเหนือลำธาร และจากการตรวจวิเคราะห์ทางเคมี ชีวะ และฟิสิกส์ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ พบว่าน้ำแร่ที่ได้จากธารน้ำร้อนบ่อคลึง น้ำสามารถอาบและดื่มได้ไม่มีอันตรายเจือป่น การอาบน้ำร้อนจะช่วยให้ระบบการหมุนเวียนโลหิตในร่างกายดีขึ้น เสริมสร้างความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ การแช่ในน้ำแร่ร้อนก็เสมือนกับการอบไอน้ำไปในตัวซึ่งจะช่วยในการลดความอ้วนได้ นอกจากนี้ในบริเวณ J.W. ธารน้ำร้อนแห่งนี้ยังมีบ้านพักไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งภายในตกแต่งหลากหลายสไตล์มีบริการอ่างแช่น้ำส่วนตัวทุกห้อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนพร้อมได้สุขภาพที่ดีก่อนกลับบ้าน ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นายวฤทธิ์ ศุภสุธีกุล (โมนยะกุล) โทร 085-2199294 , 081-8903225

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หลวงปู่เทพประทานพร



หลวงปู่เทพประทานพร พระพุทธรูปปางประทานพรสมาธิเพชร สร้างสมัยทวารวดี แกะจากหินทราย หน้าตักกว้าง 27 นิ้ว สูง 90 เซนติเมตร เป็นพระเก่าแก่ประจำวัดธรรมเจดีย์ หรือวัดท่าโขลงในปัจจุบัน ชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา เมื่อ ประสบปัญหาเดือดร้อนทุกข์ใจ กับตนเอง และครอบครัวจะมาอธิษฐานขอพรจาก หลวงปู่เทพ ส่วนมากจะสัมฤทธิ์ผล หลุดพ้นจากความทุกข์ สมความปรารถนาทุกราย ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงปู่เทพประทานพร”

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วัดนาหนอง



วัดนาหนอง ตั้งอยู่เลขที่ 38 บ้านนาหนอง หมู่ที่ 2 ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา วัดนาหนอง ได้สร้างขึ้น และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2430 โดยนายหล้า นายตั๋น ร่วมกับชาวบ้านนาหนอง เป็นผู้ริเริ่มสร้าง มีเจ้าอาวาสวัดปกครองมาแล้ว 5 รูป ปัจจุบันมีพระครูสิริคณาภรณ์ (อเนก) เป็นเจ้าอาวาส มีเสนาสนะสมบูรณ์แบบเกิดขึ้นในสมัยพระครูวิธานศาสนกิจ (หลวงพ่อโห้) เจ้าอาวาสรูปที่ 2 ได้สร้างมณฑปบนยอดเขาซึ่งติดอยู่กับวัด ไว้เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท และพระพุทธไสยาสน์ โดยคุณหลวงและนางฤทธิ์ศักดิ์ชลเขต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี คนที่ 6 ซึ่งมีบ้านเกิดอยู่ติดกับวัดนาหนอง ได้สร้างรอยพระพุทธบาท มาประดิษฐานไว้ในมณฑปบนยอดเขา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 และได้กำหนดจัดงานปิดทองพระพุทธบาทประจำปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จนกลายเป็นงานเทศกาลประจำปีของวัด มาเป็นเวลายาวนานถึง 72 ปี และในปี 2552 ทางวัดนาหนอง ได้รับการอนุมัติจากเถรสมาคม ให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม หน่วยที่ 7 ของจังหวัดราชบุรี

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วัดหนองหอย



วัดหนองหอย ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เส้นทางถนนเบิกไพร – เขางู ห่างจากตัวเมืองประมาณ 12 กิโลเมตร วัดหนองหอย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2416 เป็นที่ตั้งของพระวิหาร พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์กวนอิม มีความสูง 16 เมตร หน้าตักกว้าง 9 เมตร ประชาชนทั่วไปเรียกกันว่า "เขาเจ้าแม่กวนอิม วัดหนองหอย" ซึ่งตั้งบนยอดเขาแร้ง และอีกด้านหนึ่งของยอดเขา (เขาพระใหญ่) ประดิษฐานพระพุทธรัตนโกสินทร์มหามุณี (หลวงพ่อใหญ่) เป็นวัดที่มีผู้ศรัทธานิยมมาไหว้พระกันมาก โดยเฉพาะในวันเทศกาลหรือวันหยุด ปัจจุบันวัดหนองหอยกลายเป็นที่รู้จักของสาธุชนทั่วไป ทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด เป็นที่ล่ำลือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก ขออะไรก็จะสมหวัง วัดหนองหอย เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่เวลา 07.00 – 17.00 น.

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ศาลเจ้าเงาะ



ศาลเจ้าเงาะ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดอรัญญิกาวาส ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นายประเสริฐ สังวรสมาธิ และนายน้อย โตชาติ ผู้ดูแลศาลเจ้าเงาะ กล่าวว่า ศาลเจ้าเงาะก่อตั้งเมื่อกลางปี 2552 เดิมที่มีคนนำเจ้าเงาะมาวางทิ้งไว้ที่บริเวณวัด ต่อมามีชาวบ้านส่วนหนึ่งได้มาขอโชคลาภ และสมหวัง จึงได้ร่วมกันบริจาคเงินก่อตั้งศาลให้กับเจ้าเงาะ หลังจากนั้นต่อมาชื่อเสียงของศาลเจ้าเงาะก็เป็นที่รู้จักกันเรื่อยมา มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาขอพร และขอโชคลาภ และส่วนมากจะได้สมดังที่หวังไว้ มีหญิงชาวอำเภอปากท่อคนหนึ่ง เธอได้เล่าว่าเจ้าเงาะ ได้ไปเข้าฝัน ให้โชคลาภและเป่ามือของเธอ ทั้งที่เธอไม่เคยเห็นเจ้าเงาะมาก่อน หลังจากนั้นเธอก็สงหวังโชคลาภ ดังที่เจ้าเงาะกล่าวไว้ เธอจึงได้เดินทางมากราบไหว้ ขอพร กับเจ้าเงาะมาตลอด โดยในบริเวณศาลเจ้าเงาะจะมีบ่อน้ำของทางวัด ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมีปลาอาศัยอยู่บริเวณนี้ แต่พอมีประชาชนนำละครมาแก้บน ตามที่ตนได้ขอพรและสมหวัง เสียงของละคร บวกกับคำเชื่อตามนิทาน เรื่องสังข์ทอง ที่เจ้าเงาะเรียกปลาได้ ทำให้มีปลาตะเพียนแดงจำนวนมากมาอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบริเวณศาลเจ้าเงาะแห่งนี้

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา