วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

หลวงพ่อศิลาแดง วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม



หลวงพ่อศิลาแดง วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม ตำบลสามเรือน อำเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สมัยเชียงแสน แกะสลักด้วยหินศิลาแดงโดยช่างสมัยทวารวดี มีหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว อายุประมาณสองพันกว่าปี ชาวบ้านสามเรือนไปพบพระพุทธรูปจมดินอยู่ที่วัดร้าง หมู่ที่ 4 ตำบลสามเรือน ในสภาพที่ชำรุด จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดโพธิ์ในสมัยของอาจารย์ทองห่อ เย็นใจ เป็นเจ้าอาวาส
เนื่องจากองค์ท่านแกะสลักด้วยหินศิลาแดง ที่มีสีแดง ชาวบ้านจึงพาเรียกท่านว่า หลวงพ่อศิลาแดง คนที่มาขอพรจากหลวงพ่อศิลาแดง เมื่อสำเร็จได้ตามที่ขอก็จะนำแตงโม ประทัด พวงมาลัย หรือบางครั้ง ก็นำลิเก ละคร มาถวายแก้บน โดยทางวัดได้จัดให้มีงานประจำปีระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน หรือในช่วงงานประเพณีสงกรานต์

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2553

วัดเกาะเจริญธรรม



วัดเกาะเจริญธรรม ตั้งอยู่ที่ตำบลสามเรือน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา วัดเกาะเจริญธรรม ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2521 ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและผู้บริจาคที่ดิน พระครูวิมลกิตติวัฒน์ได้พัฒนาและบูรณะวัดเรื่อยมา โดยได้รับความอุปถัมภ์จากราษฎรในหมู่บ้านมาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2521 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 30 ยาว 20 เมตร การบริหาร และการปกครอง มีเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบคือ รูปที่ 1 พระครูวิมลกิตติวัฒน์ พ.ศ. 2516 - 2542 รูปที่ 2 พระอธิการช้าง ชาตวีโร พ.ศ.2544 - ถึงปัจจุบัน การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2524

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม



วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม ตั้งอยู่เลขที่ 7 บ้านสามเรือน ถนนวัดโพธิ์ หมู่ที่ 2 ตำบลสามเรือน อำเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2441 ผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัดคือ นายจันทร์ เย็นใจ นายโต๊ะ นายขัง วัดโพธิ์ราษฎร์ศรัทธาธรรม ได้รับการพัฒนาและบูรณะมาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2519 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ภายในวัดมีต้นโพธิ์ ที่มีมาก่อนการตั้งวัด จึงเป็นที่มาของชื่อวัด พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ หอระฆัง วิหารพระศิลาแดง พระสังกัจจายน์ และรอยพระพุทธบาท ปัจจุบันมีพระครูจิรศรัทธาคุณ เป็นเจ้าอาวาส

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

วัดเขางู




วัดเขางู ตั้งอยู่เลขที่ 107 บ้านรางไม้แดง หมู่ที่ 6 ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 13 ไร่ 3 งาน 57 ตารางวา วัดเขางูตั้งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2528 ชื่อวัดตั้งตามชื่อเขางู ผู้สร้างวัดคือ นายธีระ และนางแฉล้ม อุศุภรัตน์ เป็นผู้ขออนุญาตในการจัดตั้งวัด การสร้างและพัฒนาวัดได้เริ่มทำอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยได้รับทุนจากประชาชนที่มีจิตศรัทธาทั่วไป และได้รับการสนับสนุนในด้านเครื่องมือเครื่องจักรกล และกำลังพลจากค่ายภาณุรังสี ส่วนที่ 2 เขากรวดจังหวัดราชบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2537 ปัจจุบันมีพระครูใบฎีกา ประยูร รักษาการเจ้าอาวาสวัดเขางู แทนพระครูปลัดสงัดอภิญาโน ที่เพิ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553 ภายในวัดมีศาลเจ้าพ่อเขางู หลวงพ่อใหญ่อยู่ที่เชิงเขาด้านหน้าวัด สมเด็จพระพุทธาจารย์โต พรหมรังษี ตำหนักอาภากร ตำหนักของกรมหลวงชุมพรเข ตอุดมศักดิ์ หอระฆัง และถ้าที่ประทับขององค์แม่นาคี พระมเหสีของเจ้าพ่อเขางู ฯลฯ

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

โคกนายใหญ่




โคกนายใหญ่ ตั้งอยู่ที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีลักษณะเป็นฐานเจดีย์ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างยาวด้านละ 10.30 เมตร สูง 3.15 เมตร ฐานชั้นล่างเป็นฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยม ฐานชั้นที่สองเป็นฐานขององค์เจดีย์ ลักษณะเป็นฐานบัวโค้งถัดขึ้นไปเป็นช่องซุ้มรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซ้อนกันเป็นสองชั้นไม่ปรากฏร่องรอย การประดับปูนปั้นภายในซุ้ม ส่วนยอดของเจดีย์ชำรุดมาก ไม่สามารถบอกรูปทรงได้แน่นอน

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2553

น้ำตกเก้าชั้น หรือ เก้าโจร



น้ำตกเก้าชั้น หรือ เก้าโจร (เก้ากระโจน) ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยผาก หมู่ 7 ตำบลผาผึ้ง เลยจากธารน้ำร้อนบ่อคลึงไปประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีความสูง 9 ชั้น ตกจากหน้าผาสูงกลางหุบเขา มีน้ำตลอดปี ปริมาณน้ำจะมากในชั้นบน ๆ หินบริเวณน้ำตกเป็นหินแกรนิต แต่เดิมน้ำตกนี้รู้จักกันเฉพาะในกลุ่มชาวกะเหรี่ยง ต่อมาบริษัทต่างชาติเข้ามารับสัมปทานเหมืองแร่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2484 ต่อมาเมื่อหมดสัมปทาน ทางอำเภอและกลุ่มองค์กรท้องถิ่นจึงได้เข้ามาดูแลพื้นที่ การเดินไปชมน้ำตก จากลานจอดรถเดินเท้าต่อไปอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงบริเวณน้ำตกชั้นล่าง ซึ่งสามารถเดินเท้าขึ้นไปถึงชั้นสุดท้ายได้ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ค่าเข้าชม รถยนต์ รถตู้ รถปิกอั๊พ คันละ 30 บาท รถบัส 100 บาท

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา