วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วัดห้วยหมู



วัดห้วยหมู ตั้งอยู่เลขที่ 39 บ้านห้วยหมู หมู่ที่ 9 ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 9 ไร่ 1 งาน 57 ตารางวา
มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 21 ไร่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 7 เมตร ยาว 13 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2467 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2495 เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง และตึก 1 หลัง ศาลาอเนกประสงฆ์ และศาลาบำเพ็ญกุศล ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถปางมารวิชัย 1 องค์ พร้อมพระอัครสาวก พระพุทธโสธรจำลองเนื้อโลหะ พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร เนื้อโลหะ พระสีวลี สมเด็จเจ้าพะโคะ หรือหลวงปู่ทวด โดยทางวัดได้จัดทำพิธีหล่อหลวงปู่ทวด เมื่อวันเสาร์ 5 หรือวันที่ 20 มีนาคม 2553 พระพุทธรูปนามหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ และรูปหล่อพระครูอมรรัตน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยหมู
วัดห้วยหมูตั้งเมื่อ พ.ศ. 2445 ตามตำนานกล่าวว่าชาวเขมรเป็นผู้สร้างวัดขึ้น เดิมสภาพพื้นที่วัดมีลำห้วยและมีรูปหมูป่ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านห้วยหมู” และตั้งชื่อวัดให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้าน วัดห้วยหมูได้รับความอุปถัมภ์จากราษฎรห้วยหมูมาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2467 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 7 เมตร ยาว 13 เมตร การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระสาม รูปที่ 2 พระครูอมรธรรมรัตน์ รูปที่ 3 พระครูสมุห์น้อย พ.ศ. 2522 – 2527 รูปที่ 4 พระขวัญชัย พ.ศ. 2528 – 2530 และรูปที่ 5 พระครูจันทสีลากร พ.ศ. 2531 ถึงปัจจุบัน การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2531 การบวชชี – พราหมณ์ ในช่วงเดือนสิงหาคม ของทุกปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปราสาทหลวงพ่อโกสินารายณ์



ปราสาทหลวงพ่อโกสินารายณ์ อยู่ใกล้กับบริเวณสระน้ำโกสินารายณ์ แถวที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง ตำบลท่าผา จังหวัดราชบุรี ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2509 โดยพระอธิการอัต เขมทตุโต บูรณขึ้นใหม่ในสมัยนายทรงยศ อรัญยกานนท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าผา และคณะ ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2549 จึงแล้วเสร็จ โดยมีนายสาโรช คัชมาตย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ภายในบริเวณมีซากโบราณสถานจอมปราสาท แสดงถึงว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราณมาในอดีต สระโกสินารายณ์ ที่ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยน "โบราณสถาน"ที่เหลืออยู่ ให้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิหารหลวงพ่อดำ (พุทธโพธิ์ศรี)



วิหารหลวงพ่อดำ (พุทธโพธิ์ศรี) ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบึงกระจับ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวบึงกระจับ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง นายเลื่อน คำดี ชาวบ้านวัดบึงกระจับ เล่าว่า หลวงพ่อดำ (พุทธโพธิ์ศรี) มีอายุการสร้างประมาณ 100 กว่าปี มีชาวบ้านแถวระแวกใกล้เคียง และประชาชนในจังหวัด มาบนบาน และขอพร กับหลวงพ่อดำ ส่วนใหญ่ก็จะได้สมดังความปรารถนา และเมื่อได้สิ่งที่ต้องการชาวบ้านก็มักจะแก้บนด้วยการถวายข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ประทัด ไข่ต้ม หนัง หรือมหรสพ ฯลฯ

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วัดบึงกระจับ


วัดบึงกระจับ ตั้งอยู่บ้านบึงกระจับ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 9 ไร่ 3 งาน 7 ตารางวา อาณาเขต ทั้งสี่ทิศจดที่ดินเอกชน มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กฏิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดบึงกระจับ ตั้งเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2520 การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระอธิการประเจน สนฺตุสฺสโก พ.ศ. 2521 – 2524 รูปที่ 2 พระครูสังฆรักษ์สำรวย อนุตฺตโร พ.ศ. 2527 – 2536 รูปที่ 3 พระอธิการชะลอ นรินฺโท พ.ศ. 2538 ถึงปัจจุบัน การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2527

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สระน้ำโกสินารายณ์



สระน้ำโกสินารายณ์ เป็นสระน้ำโบราณอยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง ตำบล ท่าผา มีขนาดความกว้างประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 400 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ประชาชนในจังหวัดเรียกว่าสระโกสินารายณ์ เพราะถือว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ภายในบริเวณมีซากโบราณสถานจอมปราสาท และในตัวเมืองมีสระน้ำอีก 4 สระ คือสระนาค สระจระเข้ สระมังกร และสระแก้ว
จากหลักฐานการค้นคว้าทางโบราณคดีแสดงถึงว่าบริเวณนี้เคยเป็นเมืองโบราณมาในอดีต มีการขุดพบพระกรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ทำด้วยหินทรายแดง มี 5 พระกร ถือคัมภีร์ ลูกประคำ และดอกบัว กับพระบาทของพระโพธิสัตว์คู่หนึ่ง ปัจจุบันได้นำมาประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ปัจจุบันร่องรอยและโบราณคดีในพื้นที่มีอยู่น้อย ดังนั้นประชาชนจึงใช้สระโกสินารายณ์ในเทศกาลลอยกระทงประจำปี และเชื่อเชื่อว่าเป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มีค่าควรแก่การระลึกถึงและเคารพบูชา


ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บึงกระจับ






บึงกระจับ ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกบ อยู่ห่างจากอำเภอบ้านโป่งเป็นระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 215 ไร่ ครอบคลุมอยู่ในเขตอำเภอบ้านโป่ง และอำเภอโพธาราม การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 323 ก่อนถึงอำเภอบ้านโป่งประมาณ 3 กิโลเมตร จะเห็นวัดบึงกระจับอยู่ทางขวาเข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร
บึงกระจับ เป็นสระน้ำจืดขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ ต่อมาได้รับการพัฒนาตามโครงการตามแนวพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยชาวบ้านโป่ง หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกบ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 13 กรกรฎาคม พ.ศ. 2543 บึงกระจับ เป็นบึงน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันตก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด สถานที่เล่นกีฬาทางน้ำ ได้แก่ เจ็ตสกี พายเรือแคนู โดยบริเวณ บึงฝั่งวัดบึงกระจับมีร้านอาหารริมน้ำไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว และประชาชนที่มาเที่ยวพักผ่อน

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา