วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัดใหม่ชำนาญ



           วัดใหม่ชำนาญ ตั้งอยู่ถนนเพชรเกษม หมู่ที่ 2 ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธารามจังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 10 ไร่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 7 เมตร ยาว 22 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2513 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 เป็นอาคารไม้ หอสวดมนต์ กว้าง 5 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2482 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ กุฏิสงฆ์ จำนวน 2 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง วิหาร กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 5 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2538 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง สร้างด้วยไม้ 1 หลัง นอกจากนี้มี ศาลาพักร้อน 1 หลัง ศาลาริมน้ำ 1 หลัง ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ 1 องค์ พร้อมพระอัครสาวก พระศิวลี พระฤาษี มีการปรับปรุงของเดิมแทนของเก่าที่ถูกไฟไหม้ หลวงปูดำ ทำด้วยปูนร้อยเกสร และรูปปั้นหลวงปู่เจ็น อดีตเจ้าอาวาส
วัดใหม่ชำนาญ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2419 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2519 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร ปัจจุบันมีพระครูสมุห์ช้อย ถาวโร เป็นเจ้าอาวาส มีพระครูสมุห์ สิทธิชัย เป็นฝ่ายปรึกษาเจ้าอาวาส

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัดบ้านซ่อง



       วัดบ้านซ่อง ตั้งอยู่เลขที่ 35 หมู่ที่ 7 ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 23 ไร่ 22 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 14 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 15 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 40 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์ กว้าง 16 เมตร ยาว 28 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540 เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ทรงไทยประยุกต์ กุฏิสงฆ์ จำนวน 6 หลัง เป็นอาคารไม้ 3 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 18 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นอาคารไม้ หอระฆัง โรงครัว ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1.50 เมตร สูง 2 เมตร พระพุทธรูปสำริดปางอื่นๆ อีก 7 องค์ ใบเสมาธรรมจักรสร้างด้วยหินทรายแดงอีกจำนวน 4 คู่ โดยภายในบริเวณวัดมีเรือใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 และต้นตะเคียนทองต้นใหญ่ที่ชาวบ้านชอบมาขอพร ขอลาภ ส่วนใหญ่ก็จะสมความปรารถนา



วัดบ้านซ่อง ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2420 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร 18 วา ปัจจุบันมี พระครูรัตนวโรภาส (วิสุทธิ์ ปภาโส) เป็นเจ้าอาวาส การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2505







ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ



เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัดคลองโพธิ์เจริญ




             วัดคลองโพธิ์เจริญ ตั้งอยู่เลขที่ 70 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 96 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือจดที่ดินเอกชน ทิศใต้จดคลอง ทิศตะวันออกจดถนน ทิศตะวันตกจดแม่น้ำแม่กลอง อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 7.50 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย ศาลาการเปรียญ กว้าง 10 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2518 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน ทรงยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551 หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ จำนวน 4 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้มีศาลาเก็บศพชาวจีน เจดีย์โบราณข้างโบสถ์ ศาลาท่าน้ำทรงปั้นหยา กุฏิแม่ชี และโรงครัว ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ พระพุทธรูปในอุโบสถเก่า เป็นศิลปะสมัยอู่ทองติดต่อกับสมัยอยุธยา ทำด้วยหินศิลาแลง 3 องค์ รูปปั้นหลวงปู่เทศ อดีตเจ้าอาวาส สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 ภายในบริเวณมีต้นพิกุลขึ้นอยู่ด้านข้าง
วัดคลองโพธิ์เจริญ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2467 เป็นวัดสร้างขึ้นในหมู่บ้านคลองโพธิ์ ที่วัดมีลำคลองอยู่ริมเขตวัด และมีต้นโพธิ์ใหญ่ขึ้นอยู่กลางลำคลอง ชาวบ้านในบริเวณวัดจึงเรียกว่า วัดคลองโพธิ์เจริญ เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านด้วย วัดคลองโพธิ์เจริญ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2514 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ปัจจุบันมีพระครูสังฆกิจจานุรักษ์ ณัฐพงศ์ เขมธโร เป็นเจ้าอาวาส การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อพ.ศ. 2512

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วัดบ้านไร่ (ใหม่เจริญผล)


               วัดบ้านไร่ (ใหม่เจริญผล) ตั้งอยู่เลขที่ 47 บ้านไร่ ถนนหัวโพ – ชาวเหนือ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 84 ตาราง มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 3 แปลง เนื้อที่ 45 ไร่ 3 งาน 58 ตารางวา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 8.40 เมตร ยาว 22 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 22 เมตร ยาว 34 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2518 หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ จำนวน 4 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปนามว่า หลวงพ่อมงคลจักรวาล หลวงพ่อแดง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 และหลวงพ่อป่าเลไลยก์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2477
วัดบ้านไร (ใหม่เจริญผล) ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2432 โดยมีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้บริจาคที่ดินให้สร้างวัด คือ นางแหวด วัดครุฑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2477 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 6.30 เมตร ยาว 13.75 เมตร ปัจจุบันมีพระครูนันทสารโสภณ เป็นเจ้าอาวาส การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อพ.ศ. 2519

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา

วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หลวงปู่เกศ วัดพิกุลทอง


               หลวงปู่เกศ หรือ หลวงปู่เกศ เกธสโร ประดิษฐานอยู่ที่วัดพิกุลทอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี หลวงปู่เกศ ถือกำเนิดที่ตำบลบางป่าใน ( ตำบลพิกุลทองในปัจจุบัน ) หลวงปู่ เป็นพระที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส มีเมตตาธรรมสูงยิ่ง ชอบช่วยเหลือชาวบ้านที่ทำแต่ความดี ชาวบ้านเล่าว่า หลวงปู่มีวาจาสิทธิ์ เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งในสมัยก่อน ที่ลำคลองหน้าวัดมีน้ำเต็มคลอง มีปลาแมงภู่ชุกชุมมาก ชาวบ้านใกล้วัดไม่มีใครกล้าจับ เพราะถือเป็นเขตอภัยทาน แต่มีชาวบ้านต่างถิ่นได้นำเรือและอุปกรณ์มาลากปลาในลำคลองหน้าวัด ชาวบ้านได้เตือนแล้วแต่ไม่มีใครฟัง จึงไปบอกหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่าไม่ต้องห้าม เขาได้ปลาไปแต่ก็ไม่ได้กินหรอก ปล่อยเขาไปเถอะ และก็เป็นดังที่หลวงปู่พูด คนที่มาลากปลาวันนั้นได้ปลาไปมากมาย เมื่อกลับไปแล้วมารู้ตอนหลังว่า คนที่หาปลาเสียชีวิตทั้งหมด เพราะเป็นโรคท้องร่วง ไม่ได้กินปลาแม้แต่ตัวเดียวตามที่หลวงปู่บอก
ขณะที่หลวงปู่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง หลวงปู่ได้พัฒนาวัดตลอดจนสิ้นอายุไข ต่อมาในสมัยพระครูไพบูลย์พัฒนานุยุต เป็นเจ้าอาวาส ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างรูปเหมือนของหลวงปู่ด้วยทองเหลืองขนาดเท่าองค์จริง เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 และได้อัญเชิญประดิษฐานในวิหารจัตุรมุข เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็น เครื่องเตือนสติให้คนที่มากราบไหว้ได้กระทำความดี อยู่ในศีลธรรม ผู้ที่มีความเดือดร้อนก็จะมากราบไหว้ให้หลวงปู่ช่วยเหลือ เมื่อสิ่งที่ขอสำเร็จ สมหวัง ก็จะนำหัวหมู ปู่เค็ม ประทัดมาถวาย



ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา