วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

ผ้าซิ่นตีนจก จ.ราชบุรี






ผ้าซิ่นตีนจก ความหมายของคำว่า ผ้าซิ่นตีนจก ซิ่น หมายถึง ผ้าที่ทอเป็นถุง ตีน หมายถึงโครงสร้างส่วนล่างที่ประกอบเป็นผ้าถุง ซึ่งผ้าซิ่นตีนจกจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ หัวซิ่น(ส่วนบน) ตัวซิ่น(ส่วนกลาง) ตีนซิ่น(ส่วนล่าง) จก ตามภาษาพื้นบ้าน แปลว่า ควักหรือล้วงด้วยมือ เป็นเทคนิคการทำลายบนผืนผ้าเป็นช่วงๆ ทำให้สามารถสลับสีสันลวดลายได้หลากหลายสี เมื่อนำความหมายมารวมกันคำว่า ผ้าซิ่นตีนจก จึงหมายถึง การทำลวดลายที่มีสีสันงดงามบนผืนผ้าอาจจะใช่ฝ้ายหรือไหมแล้วนำมาประกอบหรือต่อตรงส่วนล่างของผ้าซิ่น เมื่อรวมกันเป็นผืนจึงเรียกว่า ซิ่นตีนจก ซิ่นตีนจกนี้ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เนื่องจากสตรีในอดีตของอาณาจักรล้านนานิยมที่จะสอนลูกหลานให้รู้จักทอผ้าตีนจกไว้ใช้ เพื่อที่จะแสดงถึงความเป็นกุลสตรีและความเป็นแม่บ้านแม่เรือนในปัจจุบันผ้าซิ่นตีนจกยังได้รับความนิยมในการสวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ และชาวไทย-ยวน จังหวัดสระบุรีและราชบุรีบางส่วน นอกจากจะทอผ้าไว้ใช้เองแล้วยังสามารถทอเป็นสินค้าหัตถกรรมที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย


ภาพ/ วรรธนะ อินนาจิตร

บทบรรยาย/ สุจิตรา กวางประชัน

นักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

24/03/54

วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว จ.ราชบุรี


จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ตั้งอยู่บริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี หมู่ 6 ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ภายในอาคาจิปาถะภัณฑ์ แบ่งห้องแสดงไว้หลายห้อง ประกอบด้วย

ห้องแสดงศิลปวัตถุโบราณสมัยทวาราวดี ที่ยังหลงเหลืออยู่ตามหัวไร่ปลายนา ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายในอาคารจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว

ห้องแสดงวิถีชีวิตของชุมชนไท-ยวน ที่ได้เคลื่อนย้ายจากเมืองเชียงแสนเมื่อปี พ.ศ. 2347 มาตั้งถิ่นฐานอยู่เมืองราชบุรี อาทิเช่น เครื่องมืออุปกรณ์ประกอบอาชีพทำนา การดำรงชีวิต การร่วมคิดอ่านพัฒนาชุมชน การเกิด การกิน ฯลฯ

ห้องแสดงภูมิปัญญาการทอผ้าจกไท-ยวนเชียงแสน การจำลองชีวิตแบบดั้งเดิมของไท-ยวน จนถึงการพัฒนาวิธีการทอผ้าในปัจจุบัน

ห้องแสดงผ้าจกโบราณของชาวไท-ยวนดั่งเดิม อายุประมาณ 200 ปีล่วงมาแล้วถึงปัจจุบัน และผ้าจกผลงานของลูกหลานไท-ยวนปัจจุบัน ที่สืบทอดมาจากบรรพชนจนถึงปัจจุบัน

ห้องแสดงการแต่งกายของชาติพันธ์ต่าง ในจังหวัดราชบุรี อาทิ ชาวไทย-ยวน ลาวโซ่ง ลาวเวียง มอญ กระเหรี่ยง จีน ไทยทรงดำ ไทยพื้นถิ่น ฯลฯ

นอกจากนี้ จิปาถะสถานบ้านคูบัว ยังมีมุมแสดงอื่นๆ ให้ชมอีกมากมาย



ภาพ/ วรรธนะ อินนาจิตร
บทบรรยาย/ สุจิตรา กวางประชัน
นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
14/03/54