วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552

ถ้ำจีน – ถ้ำจาม


ถ้ำจีน ตั้งอยู่บนไหล่เขาสูงจากพื้นดิน 60 เมตร มีภาพพระพุทธรูปปูนปั้นประดับบนผนังสององค์ องค์ที่อยู่ด้านใดเป็นพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา องค์ด้านนอกเหลือเพียงครึ่งองค์ สันนิษฐานว่าแต่เดิมสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ต่อมาได้ถูกดัดแปลงโดยเอาปูนพอกไว้เป็นศิลปะแบบอยุธยา
ถ้ำจาม ตั้งอยู่ทางตะวันตกของถ้ำจีนสูงขึ้นไป มีภาพสลักบนผนังทุกด้านโดยเฉพาะผนังด้านทิศเหนือสลักภาพ ตอน มหาปฏิหาริย์ หรือ ยมกปาฏิหาริย์ ที่เมือง สาวัตถี ประกอบด้วยพระพุทธรูปแสดงปางต่างๆ โดยเฉพาะพระพุทธรูปปางสมาธิ และปางแสดงธรรมท่ามกลางต้นมะม่วงมีผล นับเป็นที่นิยมทำกันในสมัยทวารวดี ดังปรากฏในภาพสลักหิน และพระพิมพ์ การสร้างภาพ ตอน มหาปฏิหาริย์นี้ได้รับอิทธิพลมาจาก เรื่องพุทธประวัติในอรรถกถาภาษาบาลี ลัทธิหินยาน ผนังด้านใต้ และตะวันออก เป็นรูปบุคคลปูนปั้นขี่คอซ้อนกันขึ้นไป ผนังด้านตะวันตก เป็นภาพพระพุทธรูปปางไสยาสน์ เหนือพระพุทธเป็นลวดลายปูนปั้นรูปต้นไม้ สันนิษฐานว่า เป็นต้นสาละ อาจหมายถึง เรื่องราวขณะเสด็จสู่มหาปรินิพพาน จึงนับว่าเป็นภาพพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่เก่าที่สุด เท่าที่ค้นพบในประเทศไทย

ถ่ายภาพ / เขียนบท / ตัดต่อ : คมปิยะ
เสียงบรรยาย : กาญจนา
วันที่ 4 – 9 – 52

ไม่มีความคิดเห็น: