วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดศรีมฤคทายวัน



           วัดศรีมฤคทายวัน ตั้งอยู่เลขที่ 4 ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 54 ไร่ 1 งาน 50 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 2924 อาณาเขตทั้งสี่ทิศจดที่ดินเอกชน อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2505 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 15 เมตร ยาว 37 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ 1 องค์ พร้อมพระอัครสาวก พระพุทธรูปเนื้อสำริด ลงลักปิดทอง ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว นาม “หลวงพ่อทองคำ” นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีวิหารหลวงปู่แทน ศาลเจ้ามาลำดวล ฯลฯ
         วัดศรีมฤคทายวัน ตั้งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2504 ผู้ดำเนินการก่อสร้างวัด คือ พระแทน ธรรมโชติ ได้ชักชวนราษฎรชาวบ้านเกาะตาพุด บ้านเกาะตาสาด บ้านเกาะอินทรีย์ ร่วมกันบริจาคทรัพย์สร้าง เสนาสนะเพื่อใช้เป็นที่พักสงฆ์และบำเพ็ญกุศล ผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัดคือ นายฉ่ำ มีทรง ได้ถวายที่ดินจำนวน 20 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา วัดศรีมฤคทายวัน ได้รับความอุปถัมภ์จากราษฎรบ้านเกาะตาพุดมาโดยตลอด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2506 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร ปัจจุบันมีพระสุมิตร สมจิตฺโต เป็นเจ้าอาวาส การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2516

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ อิษฎานนท์
เสียงบรรยาย : กาญจนา สิมมา

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดถ้ำสาริกา



          วัดถ้ำสาริกา ตั้งอยู่บ้านถ้ำสาริกา หมู่ที่ 8 ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 52893 ทิศเหนือจดที่ดินเอกชน ทิศใต้จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกจดภูเขา ทิศตะวันตกจดทางสาธารณประโยชน์ อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 24 เมตร ยาว 36 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2543 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง นอกจากนี้มีหอระฆัง ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ พระเจดีย์ 1 องค์ และพระพุทธรูปปางต่างๆอีกจำนวนหนึ่ง
       วัดถ้ำสาริกา ตั้งเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2530 โดยมีนายทองเอิบ นางสมเชื้อ ใยพิมล ชาวกรุงเทพฯ เป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตจัดสร้างวัดขึ้นในอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสถ้ำแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. 2433 ตามลายแทงของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จทางเรือมาศึกษาบริเวณถ้ำแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2399 ราว ร.ศ. 118 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จทางน้ำ โดยขึ้นบกที่ท่าน้ำเกาะพลับพลา ณ ทุ่งธรรมเสน จังหวัดราชบุรี และทรงนั่งช้างมาพร้อมกับข้าราชบริพาร เมื่อตามบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ว่า พระเจ้าตากสินฯ พร้อมไพร่พลจำนวน 500 มวล แหกด่านกรุงศรีฯ เข้ามาพักแรมค้างคืนในถ้ำแห่งนี้ ซึ่งนำทางโดยเพื่อนของพระองค์ คือ นายทองด้วง หรือ รัชกาลที่ 1 ซึ่งในอดีตนายทองด้วงเคยดำรงตำแหน่งเป็น หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี มาก่อน เมื่อทรงพักแรม 1 คืน และได้รวบรวมอาสาสมัครและเสบียงอาหารเพิ่มเติมแล้วออกเดินทางลัดเลาะไปตามชายฝั่งทะเล เพื่อไปตั้งกกที่เมืองจันทบุรี และรัชกาลที่ 5 เป็นผู้แต่งตั้งให้หน้าถ้ำ จึงมีลายพระหัตถ์ติดหน้าถ้ำมาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันวัดแห่งนี้สะอาดร่มรื่น มีต้นไม้นานาพันธุ์ชนิดเหมาะสำหรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และเป็นสถานที่ฝึกอบรมทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันวัดถ้ำสาริกา มีพระมหาเจด็จ โฆสิตธมฺโมเป็นเจ้าอาวาส

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ อิษฎานนท์
เสียงบรรยาย : กาญจนา สิมมา

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดเขาวังสดึงษ์



          วัดเขาวังสดึงษ์ ตั้งอยู่เลขที่ 52 บ้านเขาดึงษ์ หมู่ที่ 1 ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 11 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 195 มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 22 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 150 อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 7 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2518 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2509 เป็นอาคารไม้ทรงไทย กุฏิสงฆ์ จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้ 2 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง วิหาร กว้าง 5 เมตร ยาว 6 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2523 ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 14 เมตร ยาว 28 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ ปางสมาธิ สมัยเชียงแสน นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร สันนิษฐานว่าสร้างต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
          วัดเขาวังสดึงษ์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2427 เดิมเรียกว่าวัดเขาดึงษ์ ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและผู้บริจาคที่ดิน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2533 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 26 เมตร ยาว 40 เมตร ปัจจุบันมีพระอธิการสนั่น สิริมงฺคโล เป็นเจ้าอาวาส การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2484

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ อิษฎานนท์
เสียงบรรยาย : กาญจนา สิมมา

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดเกาะลอย


            วัดเกาะลอย ตั้งอยู่เลขที่ 106 บ้านเกาะลอย ถนนเขางู – เบิกไพร หมู่ที่ 8 ตำบลเกาะพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 42 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 33964 อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 25 เมตร ยาว 34 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ จำนวน 7 หลัง เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2537 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้มีหอระฆัง และวิหารหลวงพ่อเสือ ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ มณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2460 ขนาดกว้าง 16 เมตร ยาว 16 เมตร และพระปรางค์ สร้างประมาณ พ.ศ. 2450 ขนาดกว้าง 3.50 เมตร ยาว 3.50 เมตร
          วัดเกาะลอย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2420 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2467 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ปัจจุบันมีพระอธิการสายชล ฐิตสาโร เป็นเจ้าอาวาส การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2500

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ อิษฎานนท์
เสียงบรรยาย : กาญจนา สิมมา

วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดโคกทอง



          วัดโคกทอง ตั้งอยู่เลขที่ 52 บ้านโคกทอง หมู่ที่ 1 ตำบลเตาปูน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 43 ไร่ อาณาเขตทิศเหนือจดที่ดินเอกชน ทิศใต้จดทางสาธารณประโยชน์ ทิศตะวันออกจดถนน ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 23 ไร่ อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 44 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 17 เมตร ยาว 44 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์ กว้าง 6 เมตร ยาว 13 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิสงฆ์ จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง และตึก 2 หลัง วิหาร กว้าง 6 เมตร ยาว 25 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อ พ.ศ. 2545 ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ และหลวงพ่ออู่ทองขนาดใหญ่
         วัดโคกทอง ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2450 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2473 การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ รุปที่ 1 พระอธการจุ่น
น้อยสนธิ รูปที่ 2 พระอธิการสงวน ฟักจุ้ย รูปที่ 3 พระครูอุเทศธรรมคุณ ปัจจุบันมีพระครูทองใบ ปัญจฺสีโล เป็นเจ้าอาวาส

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ อิษฎานนท์
เสียงบรรยาย : กาญจนา สิมมา

วันจันทร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดชัยรัตน์



           วัดชัยรัตน์ ตั้งอยู่เลขที่ 84 บ้านชัยรัตน์ หมู่ที่ 4 ตำบลท่าชุมพล อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 12 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือจดทางหลวง ทิศใต้จดที่ดินเอกชน ทิศตะวันออกจดถนนหลวง ทิศตะวันตกจดคลองชำแระ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 7785 อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 16เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 24 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ หอสวดมนต์ กว้าง 12 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2504 เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ กุฏิสงฆ์ จำนวน 3หลัง เป็นอาคารไม้ 2 หลัง ครึ่งตึก 1 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ พระเจดีย์ทรงรามัญ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 เมตร สูง 8 เมตร ซ่อมแซมเมื่อ พ.ศ. 2511
        วัดชัยรัตน์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2443 เดิมชื่อวัดชำแระ เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชัยรัตน์เมื่อ พ.ศ. 2480 โดยมีอาจารย์จรัส ทำเรื่องขอเปลี่ยนวัด และเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาได้มีเจ้าอาวาสปกครองเรื่อยมาจนถึง พระครูโสภณ วิริยากร ได้บูรณะหอสวดมนต์ พ.ศ. 2514 สร้างอุโบสถ พ.ศ. 2516 สร้างสาลาการเปรียญ พ.ศ. 2520 บูรณะซ่อมแซมกฏิสงฆ์เป็นเรือนไม้ 2 หลัง และได้สร้างฌาปนสถาน สร้างกุฏิอีก 18 หลัง และบุรณะเจดีย์ทรงรามัญ นอกจากนั้นได้พัฒนาวัดจนได้รับรางวัลปรับสภาพสิ่งแวดล้อมและสะอาดจากเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เมื่อพ.ศ. 2515 วัดชัยรัตน์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2514 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ปัจจุบันมีพระอธิการประพัฒน์ ประภาโต เป็นเจ้าอาวาส การศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2503

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ อิษฎานนท์
เสียงบรรยาย : กาญจนา สิมมา

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดขนอน


          วัดขนอน ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านบางเลา หมู่ที่ 4 ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 55 ไร่ 40 ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ 15033 อาณาเขตทิศเหนือและทิศใต้จดที่ดินเอกชน ทิศตะวันออกจดแม่น้ำ ทิศตะวันตกจดที่ดินเอกชน อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 29 เมตร ยาว 58 เมตร สร้างเมื่อปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นอาคารทรงไทย ประดับช่อฟ้าใบระกา ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 25.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2454 เป็นอาคารไม้ทรงไทย หอสวดมนต์ กว้าง 11 เมตร ยาว 22 เมตร เป็นอาคารไม้ทรงไทย กุฏิสงฆ์ จำนวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้ ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง 9.50 เมตร ยาว 14.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2543 เป็นอาคารไม้ทรงไทย ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 1 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้มี พิพิธภัณฑ์โบราญวัตถุ ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ ศิลปะสมัยอู่ทองขนาดหน้าตักกว้าง 69 นิ้ว สร้างเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา และพระพุทธรูปสมัยโบราณ ศิลปวัตถุ เครื่องลายครามสมัยรัตนโกสินทร์ และหนังใหญ่อายุราว 100 ปี จำนวน 313 ตัว
         วัดขนอน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2300 แต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากร ไม่ปรากฎว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง เมื่อ พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนำกำลังพลเสือป่ามาพักประทับแรมที่วัดขนอน และในปี พ.ศ. 2534 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จนำนักเรียนนายร้อย มาทัศนศึกษาด่านขนอน และหนังใหญ่วัดขนอน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2300 ปัจจุบันมีพระครูพิทักษ์ ศิลปาคม เป็นเจ้าอาวาส การศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2493

ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ อิษฎานนท์
เสียงบรรยาย : กาญจนา สิมมา


วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วัดคงคาราม



            วัดคงคาราม ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านคงคา หมู่ที่ 3 ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 38 ตารางวา อาคารเสนาสนะประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 7 เมตร ยาว 17.25 เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญ กว้าง 15.30 เมตร ยาว 22.30 เมตร เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์ จำนวน 11 หลัง เป็นอาคารไม้ 9 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง 8.30 เมตร ยาว 13 เมตร เป็นอาคารไม้ ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก นอกจากนี้มีศาลาท่าน้ำ ศาลาตักบาตร ศาลาศูนย์ปฏิบัติธรรม และโรงครัว ปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำอุโบสถ และจิตรกรรมฝาผนัง ภายในวัดมีพระเจดีย์เก่า มีพิพิธภัณฑ์เก็บวัตถุโบราณ จำนวน 5,000 ชิ้น
          วัดคงคาราม ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2320 เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นในหมู่บ้านของครอบครัวพระยามอญ 7 คน ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ป้องกันพม่าทางจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้เริ่มจัดสร้างวัดโยได้ต่อแพบรรทุกไม้ไผ่ล่องมาตามแม่น้ำลำคลอง จึงได้ชื่อว่า วัดคงคาราม แต่เดิมวัดนี้มีฐานะเป็นวัดเจ้าคณะนิกายรามัญในแขวงราชบุรี จึงมีชื่อเป็นภาษามอญว่า “เผียโต่” แปลว่า วัดกลาง เป็นศูนย์รวมของวัดมอญต่างๆ ในจังหวัดราชบุรี นอกจากนั้นยังเป็นวัดที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยานเรศวรฤทธิ์ และตระกูลเจ้าจอมมารดากลิ่น ทรงอุปถัมภ์ จึงได้ช่างจิตรกรรมฝาผนังมาจากราชสำนัก ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ดูแลและอนุรักษ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2330 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 7 เมตร ยาว 17.25 เมตร ปัจจุบันมีพระอธิการสันติ สนฺติกโร เป็นเจ้าอาวาส



ถ่ายภาพ / ตัดต่อ / เขียนบท : คมปิยะ อิษฎานนท์
เสียงบรรยาย : กาญจนา สิมมา