วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552

พระมงคลบุรี


พระมงคลบุรี เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น พุทธลักษณะ พระพักตร์สุโขทัย พระองค์ยาว พระธาณุสั้น เป็นเอกลักษณะของพระอู่ทองยุคหลัง ขนาดหน้าตักกว้าง 8 ศอก 1 คีบ
คติของคนไทย เมื่อสร้างบ้านสร้างเมือง ก็จะสร้างพุทธสถาน เป็นวัดบ้าง เป็นศาสนสถานบ้าง เพื่อประดิษฐานพระพุทธปฎิมาสำคัญ สำหรับสักการะบูชาประจำเมือง ขณะเดียวกันก็ขออานุภาพแห่งพระปฎิมานั้นช่วยปกป้องรักษาเมืองด้วย
ยุคทวารวดี สร้างพระพุทธรูปหินเขียว ห้อยพระบาทปางเทศนา 4 องค์ ประดิษฐานไว้ 4 มุมเมือง เรียกพระรักษาเมือง (พระสี่มุมเมือง) ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่นครปฐม 2 องค์ อยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร และพิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยาพระนครศรีอยุธยา แห่งละ 1 องค์
ทางภาคเหนือมีสร้างบ้าง แต่ประดิษฐานในที่เดียวกัน หันหลังชนกัน หันหน้าออก 4 ทิศ อาราธนาให้ช่วยระวังภัยที่จะมาจากทิศทั้งสี่ เช่น ที่วัดภูมินทร์ เมืองน่าน ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ สร้างสี่องค์ เช่นกัน พระราชทานไปประดิษฐานสี่มุมประเทศ ทิศเหนือประดิษฐานที่ จังหวัด ลำปาง ทิศตะวันออกประดิษฐานที่ จังหวัด สระบุรี ทิศใต้ ประดิษฐานที่จังหวัด พัทลุง ทิศตะวันตกประดิษฐานที่เขาแก่นจันทร์ จังหวัด ราชบุรี เรียก พระนิโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ
พระมงคลบุรี ประดิษฐาน ณ พระวิหารหลวง วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี พระอารามหลวง ซึ่งตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองชั้นใน เป็นวัดสำคัญประจำเมืองมาแต่โบราณ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก ด้านหลังสร้างไว้อีกองค์หนึ่ง หันหน้าสู่ทิศตะวันตก หันหลังให้กัน ความหมาย คือ อาราธนาให้ช่วยระวังภัยพิบัติหน้าหลัง เรียก พระรักษาเมือง ตามความเชื่อของคนสมัยอยุธยา

ไม่มีความคิดเห็น: